สภาพความตกต่ำทางเศรษฐกิจและความผันผวนทางการเมือง ในช่วงปี พ.ศ. 2473-2523 (พ.ศ.1930-1980) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับในประเทศไทยคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 (1932) การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย ใน พ.ศ. 2482 การร่วมมือกับกลุ่มประเทศอักษะ (Axis อันได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมณี และ อิตาลี) ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกาศสงครามกับกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร (Allies อันได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต สาธารณรัฐจีน และสาธารณรัฐฝรั่งเศส) ใน พ.ศ. 2484 การสิ้นพระชนม์อย่างมีเงื่อนงำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาล ที่ 8 ใน พ.ศ. 2489 การสิ้นสุดช่วงสมัยของคณะราษฎร์พร้อมด้วยการก้าวขึ้นมาของเผด็จการทหาร ตั้งแต่ พ.ศ.2500 เหตุการณ์วันเสียงปืนแตก พ.ศ. 2508 เหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 สงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2519-2523 ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เรียกกันว่า “ยุคสงครามเย็น”[1]
ในห้วงช่วงเวลาดังกล่าว สิ่งที่ผู้คนในปัจจุบันเรียกว่า “ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ก็ดำรงอยู่ท่ามกลางห้วงเวลาอันสับสนนั้นเช่นกัน
ในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ได้ประกาศใช้ระเบียบวัฒนธรรมของประเทศ โดยกำหนดให้ประชากรในประเทศไทยต้องมีวัฒนธรรมแบบแผนเดียวกันตามที่รัฐบาลกำหนด นับเป็นครั้งแรกที่อัตลักษณ์มลายูมุสลิมกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายผ่านการกำหนดของรัฐไทยอย่างเป็นทางการ พ.ศ.2491 เกิดเหตุการณ์ ดุซงญอ ที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สับสนและมีผลกระทบตามมาอย่างกว้างขวางมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งในส่วนของสาเหตุของเหตุการณ์ ซึ่งมีความสับสนตั้งแต่การการรวมตัวเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองของประชาชนในพื้นที่ การรวมตัวเพื่อประกอบพิธีไสยศาสตร์เพื่อเตรียมต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์ (พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา) หรือแม้แต่จำนวนประชาชนผู้เสียชีวิตที่มีตัวเลขที่ไม่แน่นอนตั้งแต่ 30 คน ถึง 1,100 คน อย่างไรก็ดี นับว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างชาวมลายูมุสลิมในประเทศไทยกับรัฐไทยที่รุนแรงขึ้น รวมถึงปฏิกิริยาของชาวมลายูมุสลิมในสหพันธรัฐมาลายา โดยการยื่นสาสน์ถึงรัฐบาล เพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างสันติ และการอพยพของชาวมลายูมุสลิมในประเทศไทยสู่สหพันธรัฐมาลายากว่า 3,000 คน เป็นต้น
พ.ศ. 2497 เกิดกรณีการหายตัวไปของ ฮัจยี สุหลง อับดุลกาเดร์ เหตุการณ์ที่ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ดำมืดอีกบทหนึ่งของประเทศไทย นับตั้งแต่การยื่นข้อเรียกร้อง 7 ประการต่อรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อปี 2490 การถูกจับกุมในข้อหากบฏ เมื่อ พ.ศ. 2491 การพิจารณาคดีกบฏครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างปี 2491-2493 รวมโทษจำคุก 4 ปี 8 เดือน และได้รับการปล่อยตัวออกมาในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2495 และท้ายที่สุดในอีก 2 ปีต่อมา ในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ฮัจยี สุหลง อับดุลกาเดร์ พร้อมคณะ ได้ออกเดินทางไปยังหน่วยตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลาและหายตัวไปอย่างไรร่องรอย พร้อม ๆ กับเสียงเล่าลือว่า เขาและลูกชาวพร้อมคณะผู้ติดตามอีกสามคนถูกฆ่าแล้วนำศพใส่กระสอบถ่วงลงในทะเลสาบสงขลา
พ.ศ.2502 เกิดขบวนการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนและสถาปนารัฐอิสระเป็นครั้งแรก ชื่อว่า "แนวหน้าปลดปล่อยประชาชาติปาตานี" (ภาษามลายู Barisan Nasional Pembebasan Patani :BNPP) นับเป็นครั้งแรกที่มีองค์กรจัดตั้งและติดอาวุธเพื่อเคลื่อนไหวในกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนแถบนี้ให้เป็นรัฐอิสระของชาวมลายูมุสลิม และนับจากจุดนี้ ได้มีองค์กรลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นต่อมา เช่น พ.ศ. 2506 ได้เกิด"ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ" (ภาษามลายู Barisan Revolusi Nasional :BRN) และ "องค์กรกู้เอกราชสหปาตานี" (ภาษาอังกฤษ Patani United Liberation Organization : PULO ภาษามลายู Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu) และต่อจากนั้นมา ปฏิบัติการสงครามระหว่างรัฐไทยและกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ก็ดำเนินมาตลอดจนตราบเท่าทุกวันนี้
ประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าจำนวนมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์เหล่านั้น และหลาย ๆ เรื่องเล่า หลาย ๆ ประวัติศาสตร์บาดแผลยังคงถูกนำมาใช้ด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองและอำนาจในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การสงครามและกวาดต้อนผู้คนชาวปาตานีโดยการเดินเท้าพร้อมผูกหวายที่ข้อเท้าของทัพสยามในสมัยรัฐราชวงศ์ เรื่องเล่าการดึงทึ้งผ้าคลุมฮิญาบของสตรีมุสลิมในช่วง “การจัดการทางวัฒนธรรม” สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภาพเรื่องเล่าอันน่าภาคภูมิใจของ ฮัจยี สุหลง ในฐานะครูสอนศาสนาที่มีปัญหาหลักแหลม และ การถูกทำร้ายอย่างน่าอัปยศโดยการนำศพไปถ่วงทะเลสาบสงขลา ความทารุณโหดร้ายในเหตุการณ์ ดุซงญอ สิ่งเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำผ่านการบอกเล่า การเขียน การสั่งสอนพูดคุย จนกลายเป็นมโนทัศน์สำคัญในการขับเคลื่อนความรู้สึกในเชิงเป็นผู้ถูกเอาเปรียบและสูญเสียร่วมกันในหมู่ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา
อย่างไรก็ดี มีประวัติศาสตร์สำคัญอีกประการที่มักไม่ได้รับการกล่าวอ้างถึง นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและผู้คนชาวมลายูมุสลิมที่มุ่งเรียกร้องเอกราชให้กับรัฐปาตานี กับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มุ่งปฏิวัติการปกครองและสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ขึ้นประเทศไทย
ก่อนวันเสียงปืนแตก เมื่อ 7 สิงหาคม 2508 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้มีนโยบายต่อสู้ด้วยกำลังติดอาวุธโดยใช้ชนบทเป็นฐานผ่านมติที่ประชุมสมัชชาครั้งที่ 2 และ 3[2] เพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยโดยใช้กำลังแทนการต่อสู้ทางการเมืองปกติ อันนำไปสู่การจัดตั้ง กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2512 นั้น คอมมิวนิสต์และมลายูมุสลิมดูเหมือนจะเป็นศัตรูกันอยู่ในที ดังจะเห็นได้จากสาเหตุหนึ่งของเหตุการณ์ดุซงญอที่สันนิษฐานว่ามาจากการทำพิธีไสยศาสตร์เพื่อต่อต้านการจู่โจมของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา รวมถึงอุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ขัดแย้งกับวิถีชีวิตและความเป็นศาสนิกชนที่ดีของชาวมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามด้วย แต่จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและองค์กรติดอาวุธมลายูมุสลิมเริ่มทำความรู้จักกันมากขึ้น
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ส่งสหายจำนวนหนึ่งเข้าทำงานและค้นหาลู่ทางในการทำงานมวลชนกับชาวมลายูมุสลิม และเพิ่มความพยายามมากขึ้นด้วยการส่งสหายติดอาวุธจำนวนหนึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธที่นำโดยเปาะซู ใน พ.ศ. 2516 แต่ด้วยความไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการต้องอยู่ภายใต้การนำของเปาะซู ทำให้สหายกลุ่มนี้แยกตัวออกมาเพื่อปลุกระดมมวลชนของตนพร้อมจัดตั้งกลุ่มจรยุทธ์สำเร็จจนประกาศก่อตั้งเขตงานเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2520 และเป็นที่มาของ กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย ในพื้นที่เขตงานที่ 2 บนเทือกเขาโต๊ะเจ๊ะเด๊ะ บ้านมาโหย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ.2521
แม้ว่าหากจะพิจารณาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่สามารถจัดตั้ง กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย และ องค์กรติดอาวุธมลายู ที่มีแนวร่วมเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอันมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคคอมมิวนิตส์จีน ซึ่งน่าที่จะสามารถช่วยคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในฐานะคู่กรณีทั้งในเชิงอุดมการณ์และเชิงศาสนา-ชาติพันธุ์ได้บ้าง แต่เหตุการณ์เท่าที่ทราบกันในปัจจุบันคือ ด้วยสภาพความสับสนของขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์การก่อสงครามสั่งสอนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม การล้มรัฐบาลขวาจัดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อันนำมาสู่รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่มีท่าทีผ่อนคลายทางการเมืองมากขึ้นและ ตลอดจนความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับจีน จนเกิดผลดีที่สำคัญคือการที่จีนยุติการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทั้งในด้านการเมืองและการทหาร เหนืออื่นใด ท่ามกลางความสับสนเหล่านั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตงานจังหวัดชายแดนภาคใต้จนสามารถจัดตั้ง กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทยได้ กลับไม่มีความเชื่อมั่นในแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อไป และนั่นจึงเป็นความล้มเหลวของการปฏิสัมพันธ์กันของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับองค์กรติดอาวุธมลายูนั่นเอง
เรียนทุกท่านที่แวะเข้ามาครับ
ReplyDeleteขอแก้ไข "ข้อเท็จจริง" ในส่วนของ การก่อตั้ง กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย นะครับ
ขอให้การยืนยันว่า การตั้งกองทหารดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ด้วยการอ่านคำประกาศจัดตั้ง (เป็นภาษามลายูและต่อมาแปลออกมาเป็นภาษาไทยเพื่อนำไปอ่านออกอากาศในคลื่นวิทยา สถานีเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ได้เกิดขึ้นเมื่อ " 7 สิงหาคม พ.ศ. 2520" ครับ
ดังนั้น กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ เขตงานที่ 2 สงขลา หรือที่เรียกว่า "กองใต้" บนเทือกเขาโต๊ะเจ๊ะเด๊ะ บ้านบาโหย ตำบลบาโหย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2520 ไม่ใช่ 2521 ครับ
ขออภัยในความผิดพลาด
เจริญพงศ์ พรหมศร
รบกวนสอบถามค่ะ ไม่ทราบว่า บทความเรื่อง "เพลงชาติไทย เสียงสะท้อนการสร้างความเป็นชาติ ไทยThai National Anthem: The reflections on Thais national building" ของคุณเจริญพงศ์ ตีพิมพ์ลงในวารสารเล่มไหนคะ
ReplyDeleteรบกวนสอบถามค่ะ ไม่ทราบว่า บทความเรื่อง "เพลงชาติไทย เสียงสะท้อนการสร้างความเป็นชาติ ไทยThai National Anthem: The reflections on Thais national building" ของคุณเจริญพงศ์ ตีพิมพ์ลงในวารสารเล่มไหนคะ
ReplyDeleteดูได้จากที่นี่เลยครับ
ReplyDeletehttps://sites.google.com/site/pjarernpong/home/knowledge