Tuesday, June 14, 2011

ทัณฑนิคมธารโต โดย ภมรี สุรเกียรติ

การก่อตัวของคำถามงานวิจัยชิ้นเล็กๆ ชิ้นนี้ แรกเริ่มเดิมทีมิได้เกิดมาจากบริบทการทำงานทางวิชาการ หรือความพยายามจะศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจความเป็นมาและพัฒนาการของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใดหากแต่มีต้นตอมาจากเรื่องส่วนตัวล้วนๆ

พื้นเพเดิมของคุณพ่อผู้เขียนเป็นคนปัตตานี “สุรเกียรติ” เป็นนามสกุลของผู้เขียนที่ใช้สืบสายทางพ่อ ที่สืบมาจากทางคุณปู่อีกทอดหนึ่ง “ตุลารักษ์” เป็นนามสกุลดั้งเดิมของคุณย่าก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ “สุรเกียรติ” ตามคุณปู่ ดังนั้นเมื่อนับวงศาคณาญาติทางพ่อก็จะอยู่ในสองตระกูลนี้เป็นหลัก นามสกุล “ตุลารักษ์” นี้ดูสะดุดหูมากขึ้นครั้งเมื่อเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ในชั้นเรียนปริญญาตรี ที่ที่ทำให้ผู้เขียนรู้จักบทบาทของ “สงวน ตุลารักษ์” หนึ่งใน “คณะราษฎร”ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 และการเป็นสมาชิกเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2ในตอนนั้นเคยถามคุณพ่อด้วยความตื่นเต้นว่า เราก็เป็นญาติกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ด้วยหรือ คุณพ่อไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากบอกแต่เพียงว่าเป็นญาติกันห่างๆ มิใช่สายตรง ณ ตอนนั้นสำนึกนักประวัติศาสตร์คงยังไม่ตกผลึกผู้เขียนจึงยังมิได้สนใจใฝ่รู้ความเป็นมาของบรรพบุรุษว่าเกี่ยวข้องกันอย่างใด

เวลาผ่านไปกว่าสิบห้าปีถึงได้หันกลับมาสนใจประเด็นนี้อีก สืบเนื่องมาจากที่ผู้เขียนย้ายจากกรุงเทพบ้านเกิด ลงมาทำงานที่ปัตตานี การกลับมาอยู่ใกล้ชิดญาติๆ ทำให้ได้เริ่มลงมือทำสาแหรกและประวัติตระกูล พื้นเพดั้งเดิมแรกเริ่มของทั้ง“สุรเกียรติ” และ “ตุลารักษ์” เป็นจีนสยามย่านบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันนี้ญาติๆ ทั้งสองสายตระกูลก็ยังคงอาศัยอยู่ทั้งในย่านเดิม และแยกย้ายกระจายกันอยู่ในแถบกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรีเป็นหลัก ข้อค้นพบนี้ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าทำไมบ้านพ่อถึงมาอยู่ได้ไกลถึงปัตตานี คุณพ่อบอกว่า บ้านเราเป็น “ตุลารักษ์” สายบ้านนอก ย้ายจากบางคล้ามาปัตตานีตั้งแต่สมัยคุณตาของพ่อ หรือเรียกได้ว่ารุ่นคุณตาทวดของผู้เขียน ส่วนทาง “สุรเกียรติ” ของคุณปู่ มีปู่ย้ายมาคนเดียวย้ายมาทีหลังตอนมารับราชการเป็นพัศดี เรือนจำกลางปัตตานี แล้วก็พบรักกับคุณย่าจึงแต่งงานและตั้งรกรากอยู่ที่ปัตตานี“อยู่บางคล้าทำมาหากินไม่ได้หรือคะ คุณตาทวดถึงอพยพครอบครัวลงมาอยู่ที่ปัตตานี” คำถามนี้คุณพ่อตอบไม่ได้ ถึงคราวที่ผู้เขียนจะต้องไปสืบสาวราวเรื่องจากผู้อาวุโสรุ่นคุณปู่คุณย่า จึงได้ความกระจ่างมากขึ้นว่า คุณตาทวดของผู้เขียน มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของคุณสงวน ตุลารักษ์ ตระกูล “ตุลารักษ์” นี้ถือว่าเป็นเศรษฐีผู้มีอันจะกินที่ย่านบางคล้า แต่ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเศรษฐกิจตกต่ำ การทำมาหากินไม่ดีเหมือนเดิม คุณตาทวดของผู้เขียนลูกคหบดีใหญ่มีนิสัยใจนักเลงกล้าได้กล้าเสียโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการพนัน คุณย่าเล่าว่าคุณตาทวดคงจะขายที่ดินขายทรัพย์สินไปใช้หนี้อยู่มากจนเงินทองเริ่มฝืดเคือง เมื่อคุณตาทวดสงวน ตุลารักษ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการเรือนจำกลางภาคธารโต ที่จังหวัดยะลา ก็ชวนพี่ๆน้องๆ และคนรู้จักในละแวกบางคล้า อพยพย้ายลงมาทำมาหากินทางชายแดนใต้กันหลายครอบครัว รวมทั้งคุณตาทวดของผู้เขียนด้วย ถึงแม้ต่อมาคุณตาทวดสงวนจะย้ายกลับกรุงเทพ แต่บรรดาญาติพี่น้องที่ได้อพยพตามมาด้วยก็ไม่ได้ย้ายกลับไป แต่ต่างก็ลงหลักปักฐานกัน ณ ชายแดนใต้แห่งนี้ บ้างก็อยู่ที่ยะลา บ้างก็อยู่ที่ปัตตานี ตราบจนถึงรุ่นเหลนในปัจจุบันสรุปสั้นๆ ว่า เหตุที่ทำให้คุณตาทวดเป็น “ตุลารักษ์” สายบ้านนอกก็เนื่องมาจาก “คุก” เพราะย้ายตามคุณตาทวดสงวนที่ลงมาคุมคุกธารโต บ้านตาทวดผู้เขียนเองก็ตั้งอยู่หน้าคุกปัตตานี คุณปู่ก็มารับราชการเป็นพัศดีเรือนจำกลางปัตตานีและภายหลังก็ทำมาหาเลี้ยงลูกจนถึงชั้นหลานด้วยการส่งอาหารให้เรือนจำกลางสามจังหวัดชายแดนใต้

No comments:

Post a Comment