โลกแห่งความทันสมัย (Modernization) คือภาคต่อเนื่องของยุคล่าอาณานิคม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การทำให้เป็นตะวันตก (Westernization) ส่วนมากภาพการวิเคราะห์จะทำให้โลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ถูกกระทำ (Passive Actor) หมายถึง เป็นฝ่ายรับเอาความทันสมัยเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการตอบโต้ (Active Actor) เช่นเดียวกับชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มักจะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับรัฐไทยเสมือนหนึ่งว่า ความทันสมัยดังกล่าวถูกนำพามาจากผ่านบริบทของจังหวัดกรุงเทพมหานครเพียงเท่านั้น แต่จากงานวิจัยชิ้นนี้ จะวิเคราะห์ถกเถียงโดยใช้จินตนาการทางสังคมวิทยาเพื่อนำเสนอให้เห็นอีกความหมายหนึ่งจากเบื้องล่างสู่บน (Bottom Up Approach) และใช้แนวคิดของ Anthony Gidden เรื่อง โครงสร้างและผู้กระทำการ (Structure and Agency) รวมทั้งความสัมพันธ์แบบสังคมชายขอบ (Marginalization) ผ่านครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้สายตระกูล “หะสาเมาะ” อาจจะทำให้เห็นได้ว่า ภาวะแห่งความทันสมัยดังกล่าว ได้ถูกครอบครัวนี้ปรับเปลี่ยนนำมารับใช้ผนวกหลอมรวมและแปลความหมายของคำว่า “ความทันสมัย” ให้เข้ากับสภาพสังคมและวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้นภาพครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในชนชั้นพ่อค้า อาจจะทำให้เห็นจุดปะทะของโลกแบบจารีตประเพณีและโลกของความทันสมัยได้อย่างสำคัญ
ใครคือ หะยีดือเระ หะสาเมาะ? บุคคลผู้นี้คือ คือ พ่อค้ามลายูมุสลิมเชื้อสายจีน คาดว่าบรรพบุรุษได้อพยพมาอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุคเดียวกับหลิมโต๊ะเคี่ยม (ผู้หล่อปืนใหญ่สำคัญ 3 กระบอก คือ ศรีนัครา มหาล่าหล่อ และพญาปัตตานี และยังเป็นที่รู้จักกันในฐานะพี่ชายของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) หะยีดือเระ มีบิดาชื่อ “มะหะหมัด แซ่ลิ้ม” ก่อนจดทะเบียนใช้นามสกุล “หะสาเมาะ” เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2459 ท่านอาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยและย้ายถิ่นฐานเพื่อหาทำเลค้าขายที่เหมาะสมกับการค้า ทั้งๆ ที่มิได้ดำรงตำแหน่งทางสังคมใดๆ และอยู่ในยุคอดีตที่มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ถือกำเนิด แต่หะยีดือเระก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกเขตย่านการค้าสำคัญที่เรียกกันว่า “สายกลาง” จังหวัดยะลาในปัจจุบัน ที่สำคัญมีความสามารถในการเลี้ยงดูลูกได้ถึง 18 คน จากภรรยา 2 คน ที่ชื่อเหมือนกัน คือ “กะมาลอ”
“กะมาลอ” คือ ภรรยาคู่ชีวิตของหะยีดือเระ 2 ท่าน แต่ละท่านมีบุตร-ธิดาท่านละ 9 คน รวมทั้งสิ้น 18 คน คอยอยู่ดูแลบ้านซึ่งเป็นร้านค้า ขณะที่สามีไม่อยู่ ไปค้าขายยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ หะยีดือเระ มีภรรยาครั้งละ 1 คน และแต่งงานกับภรรยาคนที่ 2 เมื่อ ภรรยาคนแรกเสียชีวิต พร้อมทั้งยกทรัพย์สมบัติที่หามาได้ให้ลูกๆของภรรยาคนแรกทั้งหมด เมื่อแต่งงานใหม่กับภรรยาคนที่ 2 ก็เริ่มต้นค้าขายใหม่ แต่เนื่องจากอายุเยอะมากขึ้น อาจทำให้ไม่ร่ำรวยมากเท่าเดิม ก่อนเสียชีวิตท่านได้สั่งเสียพร้อมทั้งฝากมรดกชิ้นสำคัญให้กับลูกหลานทั้งที่เป็นวัจนภาษาและอสังหาริมทรัพย์ว่า “ทุกปี ก่อนเดือนรอมฎอน 10 วัน ให้มารวมกันที่กุโบร์ของกะมาลอ (1)” จึงเป็นที่มาของงานรวมญาติเรียกว่า “วัน 10 ระยับ” และได้มอบที่ดินส่วนหนึ่งสำหรับให้ลูกหลานปลูกต้นยางนำรายได้มาเป็นค่าจัดงานเลี้ยงอาหารไว้ให้ ปัจจุบัน ลูกหลาน ต่างกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศไทย ตามจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร ทั้งในต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ซาอุดิอารเบีย โมร๊อคโค สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา
No comments:
Post a Comment