Tuesday, June 14, 2011

วัฒนธรรมพันธุ์ผสมของมลายูซับอัลเทิร์นในโลกประเพณี: การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มลายู โดย บัณฑิต ไกรวิจิตร

ผู้ชมจำนวนมากชอบชมหลังฉากการแสดงของ ดาหลัง “dalang” ผู้ควบคุมแสงเงาที่ทาบผ่านหุ่นแผ่นหนังตกกระทบปรากฎเป็นเงาบนผืนผ้า การแสดงหน้าฉากมาจากนักแสดงหลังฉาก วายังกูเละใช้เวลาการแสดงตลอดเรื่องมากกว่า 4 ชั่วโมง ดังนั้นการสอดแทรกตัวเองไปมุงดูหลังฉากก็เพลิดเพลิน ติดตามเรื่องจากมุมมองของแท้ก่อนปรากฏเป็นเงาที่ผู้ชมส่วนใหญ่ได้รับชม เห็นเบื้องหลังการสร้างภาพและการพากษ์การร้อง ประสานกับการเล่นดนตรี การชมกิจกรรมหลังฉากก่อนที่ภาพตัวแทนจะไปปรากฏเป็นเรื่องราวในทันทีบนผืนผ้าได้รับความนิยมเช่นกัน ผู้ชมอาจจะคิดว่าการมุงดูหลังเวทีคือการเข้าถึงความแท้ที่ดาหลังปกปิดไว้จากสายตาผู้ชม ผู้เขียนก็เช่นกันอาศัยสถานการณ์นี้ดอดเข้าไปนั่งคุยกับดาหลังก่อนที่จะเริ่มพิธีอีกสามชั่วโมงข้างหน้า การแสดงวายังกูเละนั้น “ดาหลัง” ไม่ได้เพียงแค่คิดว่าเวทีที่ถูกแสดงภาพตัวแทนดำเนินเรื่องบนผืนผ้าเป็นพื้นที่การแสดงเดียว การถูกชมเบื้องหลังการสร้างภาพและการร้องคืออีกเวทีหนึ่งหรือเป็นฉากอีกฉากหนึ่งของการแสดง เวทีด้านหลังนั้นคือพื้นที่ของการแสดงอีกทีหนึ่ง ดาหลังชอบผู้ชมที่เดินมามุงดูหลังเวทีเป็นพักๆ ดังนั้นการแสดงจึงไม่มีหน้าฉาก-หลังฉาก อันที่จริงแล้วบรรยายกาศที่สร้างให้มีพื้นที่แบ่งแยกหน้าฉาก-หลังฉากคือฉากหนึ่งของการแสดงนั่นเอง (Schechner, 1995: 184-5)

แบเลาะห้ามผู้ชมที่ไม่ใช่ญาติแตะต้องพร้อมกำชับว่าหากใครละเมิดจะมีอันเจ็บป่วยหรือมีอันเป็นไป แต่สามารถถ่ายรูปได้ “หุ่นชอบการถ่ายรูป ชอบความชื่นชมของคนดู แต่ไม่ชอบให้ใครมาแตะเขา” ลูกศิษข้าพเจ้าผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามบรรยายถ่ายทอด ตัวหนังผู้ที่จะถูกเชิดโดยแบเลาะถูกอธิบายประหนึ่งเหมือนกับว่ามีตัวตนที่สามารถคิดเองได้ เอาละดีทีเดียวสำหรับการเริ่มต้น แบมะเล่าต่อว่า เทวดา....จะถูกเชิญให้เข้าสิงเขาก่อนที่จะเล่นโดยผ่านพิธีบูชาอาหาร หนึ่งในนั้นก็คือไก่ เมื่อถูกสิงแล้วเขาจะสามารถเดินเรื่องได้ตั้งแต่ต้นจนจบ การถูกสิงทำให้เขาสามารถจำตัว ละครทุกตัวได้ หุ่นหนังของแบเลาะที่ได้รับมรดกจาก 13 รุ่น ทั้งหมด 300 กว่าตัวก็จะมีชีวิตบนผืนผ้า เนื้อเรื่องเกี่ยวกับอิเหนา (จากการสัมภาษณ์แล้วเดาว่าเป็นเรื่องอิเหนาของบาหลี ทั้งนี้ต้องเทียบเคียงอีกครั้ง) ดาหลังขยับหุ่นหนังเล่นกับการถ่ายทอดเงาที่ทาบกับแผ่นผืนผ้าของจอรับเงา ส่วนเงาจะใหญ่หรือเล็กดาหลังเล่นกับระยะห่างระหว่างแสงไฟ ถ้าใกล้ไฟมากเงาที่ทาบบนจอก็ใหญ่ ห่างออกไปทุกระยะก็จะมีผลต่อขนาดของตัวละคร เมื่อตัวละครพูด ดาหลังขยับปากหุ่น ปากขยับ เสียงพูดออกมาจากน้ำเสียงของดาหลัง แต่ดาหลังไม่ได้พูด สิ่งที่เกิดขึ้น คือการเปิดโลกศักดิ์สิทธิอันเหลือเชื่อ มาโลดแล่นบนผืนผ้า จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร เพราะดาหลังเป็นคนพูดออกเสียง เรื่องลี้ลับได้รับการเปิดเผยจากดาหลัง แบเลาะแห่งบางตะวา จังหวัดปัตตานี การแสดงวายังกูเละของแบเลาะไม่ใช่เพื่อเรื่องสนุกสนาน เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่จริงจังมาก รับเฉพาะงานรักษาคนเจ็บป่วย ไม่ใช่งานแสดงเกี่ยวกับสถานการณ์ อาการเจ็บป่วยนิยามได่ว่าผู้ป่วยมีอาการกินไม่ได้นอนไม่หลับ อึดอัด อาการเช่นนี้อธิบายได้ว่าถูกวิญญาณที่มีความไม่พอใจเข้าสิง อาจจะเป็นผี หรือวิญญาณบรรพบุรุษ ดังนั้นจะต้องจ้างให้วายังกูเละมาแสดงให้ผีดู และให้สิ่งศักดิ์สิทธิจะเป็นผู้ปลดปล่อยผีออกไปจากเรือนร่างของผู้ป่วย ไม่นานวันผู้ป่วยก็จะหายและดูเหมือนคนปกติทั่วไป ค่าจ้างการรักษา 5,000 บาท ซึ่งเป็นเงินตอบแทนประมาณ 10 ชีวิต ซึ่งรวมถึงค่าเดินทางค่าติดตั้งเวที ถึงแม้ครอบครัวผู้ป่วยจะยากจนแต่ผู้แสดงวายังกูเละก็ได่ได้รายได้จากการเล่นเท่าไหร่นักจึงดูเหมือนว่าการแสดงวายังกูเละคือการสืบทอดหน้าที่ของตระกูลมากกว่าเพื่อแสวงหารายได้

สำหรับ Jawa แล้ว วายังกูเละมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สมัยใหม่ (modernization) ที่เกิดกับวิถีชีวิตของชาวจาวา เช่นมีคณะวายังกูเละเคลื่อนที่ด้วยรถมอเตอไซต์ การเพิ่มเครื่องดนตรีด้วยกลองตะวันตกในการบรรเลง การแสดงโดยใช้แสงสี ซึ่งสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ชมและให้ความนับถือต่อวีรกรรมของวีรบุรุษของเขาคือ ดาหลังนักเชิดหนังวายังกูเละ ความเปลี่ยนแปลงของศิลปินพื้นบ้านในเชิงคุณค่าสำคัญของชีวิตชาวจาวาที่ทำการแทนที่คุณค่าในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหมู่บ้าน ถูกวิจารณ์ว่ากำลังสร้างความเสื่อมสลาย ผู้วิจารณ์ขาดความเข้าใจ ต่อการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของดาหลังที่มีต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าในสภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งแตกต่างจากความคาดหวังว่าดาหลังจะอยู่ในกฏเกณฑ์ที่ต้องการได้ ดาหลังได้ใส่ระหัสในหลายรูปแบบและมีประวัติศาสตร์ของพัฒนาการไม่ได้หยุดนิ่งมานับร้อยๆปี ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะการแสดงเท่านั้น ดาหลังมีความสามารถที่จะสะท้อน ซึมซับ วิพากษ์วิจารณ์ และเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิตของชาวจาวาให้อยู่ในความสัมพันธ์กับตำนานและคุณค่าของชาวจาวาได้ (186)

ดาหลังไม่ได้แค่เพียงมีบทบาทสำคัญในด้านสุนทรียศาสตร์ ในเชิงพิธีกรรม และในทางสังคมเท่านั้นดาหลังมีบทบาทที่สำคัญในทางการเมืองและเป็นผู้ประกาศเผยแพร่ศาสนาและคุณค่า เช่น ศาสนาฮินดู และศาสนาอิสลาม ในกรณีของท้องถิ่นสามจังหวัดก็ได้เคยมีการจัดสัมนาใหญ่มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังนับร้อยคน ประเด็นหลักก็คือ ความห่วงใยในเอกลักษณ์ของความเป็นหนังตะลุงที่ตอบสนองต่อความต้องการทางสังคมจนแห้งแล้งจากรากเหง้าของตนเอง การสัมนาก็เพื่อพยายามอนุรักษ์หนังตะลุง และเสนอให้จำกัดการใช้เครื่องดนตรีห้าหลักที่เรียกว่า “เครื่องห้า” คือ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ กลองตุ๊ก และ ทับ และด้านเนื้อหาให้สอดแทรกภูมปัญญาความรู้ควบคู่กับความบันเทิง ในการสัมนาครั้งนั้นได้จัดประเภทนายหนังตะลุงออกเป็นสองสาย คือสายอนุรักษ์ กับสายพัฒนา สายอนุรักษณ์นั้นค่อนข้างขาดแคลนงานแสดงเพราะไม่สามารถดึงดูดใจในการสร้างความสนุกสนานของผู้ชมเพราะไม่มีการแสดงดนตรีที่ทันสมัยและไม่ถูกใจสำหรับคนรุ่นใหม่ ดูเหมือนว่านายหนังสายพัฒนาพยามยามปรับตัวเพื่อแข่งขักนกับมหรสพสมัยใหม่ที่เน้นด้านเสียงที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้น และต้องการปรับตัวให้ผู้ชมเห็นว่านายหนังเป็นคนทันสมัยไม่เชย แต่ข้อคิดของนายหนังก็ไม่ได้รับการพิจารณามากไปกว่าความต้องการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของชาติที่ต้องการโดดเดี่ยวหนังตะลุงออกจากวัฒนาธรรมปนเปื้อน การปลอมปนของวัฒนธรรมต่างชาติ การพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของนายหนังคือการทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น ขาดความรู้ ขาดจุดยืนในการอนุรักษ์ ไม่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชาติ และตั้งคำถามว่า “อย่างไหนคือหนังตะลุง” สิ่งที่นักอนุรักษ์วัฒนธรรมคาดหวังนอกจากที่อธิบายไปแล้วพวกเขายังต้องการให้นายหนังทำหน้าที่ทางการเมืองในขณะแสดงอีกด้วย (วาที ทรัพย์สิน, 2545: 82-7) ความพยายามทำให้ศิลปะของชาวบ้านบริสุทธิ (purity) และเป็นสิ่งที่ถูกแสดงออกมาด้วยความเป็นของแท้ (authenticity) และไม่ใช่เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นสมัยใหม่ คือการพยายามแช่แข็งศิลปะพื้นบ้านให้หยุดนิ่งในช่วงเวลาหนึ่งๆในขณะสภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในกระแสธารการเปลี่ยนแปลงไปสู่สมัยใหม่ จึงมีข้อโต้แย้งกับศิลปินพื้นบ้านที่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทำให้ความอยู่รอดเป็นเรื่องที่มีเหตุผลน้อยกว่าการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม แต่ศิลปินก็คือชาวบ้านมีปากมีท้องนอกจากเลี้ยงครอบครัวแล้วเขายังต้องนำพาสมาชิกให้อยู่รอดได้อย่างมีเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมในการบำบัด ทั้งในแง่ความบันเทิง ศีลธรรม และในเชิงพิธีกรรม การแสดงพื้นบ้านคือการส่งเสียงพูดออกไปจากความสัมพันธ์ที่มีพลวัตรทางสังคมในทุกๆด้าน ที่คนตัวเล็กๆ ด้อยอำนาจจะสามารถสร้างและสะสมพลังไว้ในตัวเองและสามารถที่จะเป็นตัวแทนของตัวเองให้ได้มากที่สุดในความสัมพันธ์กับตัวกระทำการและองค์กรทางเศรษฐกิจและสถาบันทางสังคมทั้งหมด

ผู้เขียนได้พูดคุยกับศิลปินพื้นบ้าน มะโย่ง โนราห์ (นราธิวาส) สีละ วายังกูเละ ขณะที่พวกเขาเข้ามาแสดงในมหาวิทยาลัยในโอกาสต่างๆ พบว่าพวกเขาค่อนข้างกลัวมหาวิทยาลัย กังวลต่อการวิจารณ์จากนักวิชาการ แต่เมื่อแสดงบนเวทีพวกเขาก็ทุ่มเทกันอย่างเต็มที่มีพลัง ผู้เขียนเปลี่ยนแปลงความรู้สึกไปภายหลังจากการได้ชมการแสดง ถึงแม้เดิมนั้นไม่ได้มีความคาดหวังว่าจะอยู่ในกฏเกณฑ์ที่ต้องการใดๆทั้งสิ้น สิ่งที่เปลี่ยนไปของผู้เขียนจากเสียงกลองที่ระทึก คอลเสียงดนตรีต่างๆ ท่องท่า ลวดลาย กำลังที่ถูกส่งออกมาจากการรำฟ้อน สร้างความรู้สึกต่อข้าพเจ้าและผู้ชมต่างๆ ในที่สุดผูเขียนก็พบถึงพลังที่ถูกสร้างและเห็นพลังที่สะสมไว้ในตัวตนเรือนร่างของศิลปิน ซึ่งแต่ละคนอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ด้วยเหตุนี้ศิลปินพื้นบ้านจึงมีอำนาจที่ชาวบ้านอาจอธิบายว่าคือความศักดิ์สิทธิ ที่เขาสามารถติดต่อและต่อรองกับอำนาจเหนือธรรมชาติที่แตกต่างหลากหลายกันไป


No comments:

Post a Comment