การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเกิดจากกระบวนการทำให้เกิดความทันสมัย (Modernization) อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านกายภาพภายนอก (a rational change in objective reality) ผ่านการพัฒนาความรู้ในเชิงศาสตร์ (Scientific Knowledge) และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ซึ่งทำให้สังคมมนุษย์สามารถลดหรือขจัดอุปสรรคอันเกิดจากธรรมชาติภายนอกซึ่งท้าทายต่อการดำเนินชีวิต กระบวนการ Modernization มิใช่สิ่งใหม่หากแต่เกิดขึ้นและเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่ความรวดเร็ว และความรุนแรงตลอดจนขนาดที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในศตวรรษที่ 19 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 20
พร้อมๆกับกระบวนการทำให้เกิดความทันสมัย ภาวะความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) แสดงนัยยะถึง “การเปลี่ยนแปลงภาวะทางจิตใจของมนุษย์ (a change of state of man’s mind) โดยการยอมรับเหตุผล (Reason) และความเป็นเหตุเป็นผล (Rationality) ให้มีอำนาจ (Authority) อยู่เหนืออำนาจอื่นๆ ดังคำพูดของคานท์ (ผ่านปากของ ฟูโกต์) ที่ชี้ว่า “เป็นชั่วขณะที่มนุษย์นำเอาอำนาจของเหตุผลที่ตัวเองมีออกมาใช้ (ในการเผชิญกับปัญหา) โดยมิต้องพันธนาการตัวเองกับอำนาจใดๆ (เช่น ศาสนา จารีต ประเพณี ฯลฯ): The moment when humanity is going to put its own reason for use, without subjugating itself to any authority (WIE, 37-38)”
สภาวะความเป็นสมัยใหม่จะบังคับ (force) ให้มนุษย์เกิดการปรับเปลี่ยน (Reorientation) ตัวเองทั้งในฐานะปัจเจก และปรับเปลี่ยนลักษณะการรวมตัวกันของมนุษย์ในฐานะสังคม ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความคิดหรือคุณค่าใหม่ๆ (New ideas and values) อันนำไปสู่การจัดการกับปัจจุบันและการวางแผนเพื่อรับมือกับอาณาคต ในทางตรงกันข้าม ผลจากสภาวะความเป็นสมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบในด้านลบ อาจก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนที่ดำเนินไปในทิศทางทีเป็นแรงผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูระบบสังคมและวัฒนธรรมแบบจารีตโดยการอ้างอำนาจของอดีต (the Authority of the Past) เพื่อรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมและต่อต้านการก่อตัวขึ้นของอัตลักษณ์ใหม่ที่เกิดจากวิถี และภาวะทางจิตใจเชิงเหตุผลแบบใหม่ (new kind of rationality)
กล่าวเฉพาะชุมชนมุลิม ผู้ที่รับแรงกระแทกอันดับต้นๆจากภาวะความทันสมัยและกระบวนการทำให้เกิดความทันสมัย คือ ผู้รู้ทางศาสนา (อูลามาอ์) โดยที่พวกเขาเป็นกลุ่มคน/ชนชั้นซึ่งมีสถานะพิเศษทั้งในสายตาของชุมชนมุสลิม และสถานะพิเศษนั้นได้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกรุอ่านและแบบแผนการดำเนินชีวิต (ซุนนะฮ) ของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) อูลามาอ์เป็นกลุ่มคนที่ อธิบาย ตีความ และประยุกต์ความรู้ทางศาสนา และจารีต (Tradition) เพื่อปะทะ ต่อรอง ต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตที่มาพร้อมๆกับความทันสมัย (Modern) ความพยายามในการรักษาจารีต (Tradition) ในขณะที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความทันสมัย (Modern) จึงเป็นความพยายามที่ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง คำถามสำคัญที่เป็นหัวใจของการศึกษาคือ อูลามาอ์สายจารีตนิยมมีการ การทบทวน (revision) หรือ การปรับเปลี่ยน (Reorientation) การตีความหลักการศาสนา ในเรื่องสำคัญๆที่เป็นผลผลิตของภาวะสมัยใหม่ เช่นการตีความหรือมุมมองด้านความคิดเรื่องรัฐชาติ (Modern nation-state) ประชาธิปไตยและความยุติธรรม (Justice and Democracy) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) บทบาทของผู้หญิงในสาธารณะ (the role of women in public) ความสัมพันธ์ต่างเพศในที่ทำงาน การกระจายอำนาจ การบริหารจัดการสมัยใหม่ ฯลฯ อย่างไร? ทั้งนี้เนื่องจากหลักการความเป็นเหตุผล (Rationality) ได้ถูกยอมรับ ของคนในสังคม (อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) และได้กลายเป็นคุณค่า (Values) และปทัสถาน (Norms) ของสังคม แต่การอธิบายหรือการตีความอิสลามตามแนวทางจารีตนิยมไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุผล หากแต่ใช้การศรัทธา และการอ้างถึงจารีตปฏิบัติของท่านศาสดาและบรรดาสหาย ตลอดจนความเห็นของนักวิชาการศาสนายุคกลางในอดีต คำถามต่อมาก็คือ ทำไมอูลามาอ์สายจารีตนิยม ดังเช่น อุซตาซ อิสมาแอล สะปันยัง (2483-ปัจจุบัน) จึงยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงจากมุสลิมปาตานีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในวัยทำงานที่มีการศึกษาสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน? ทั้งที่กลุ่มคนชั้นกลางเหล่านี้น่าจะถูก appealed ด้วย“เหตุผล” มากกว่าการใช้ “Tradition” อุซตาซ อิสมาแอล สะปันยัง สามารถรักษา (Preserve) สถานภาพของการเป็นผู้มีอำนาจ (Authority) ในการตีความ และสภาพการนำในชุมชนมุสลิมอย่างไรในภาวะ reflexivity ของภาวะสมัยใหม่ที่มีความจำเป็นต้องปรับรูปแบบและเนื้อหาของความรู้ (Knowledge) สถาบัน (Institution) และความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relations) ท่ามกลางการไหลเวียนอันท่วมท้นของข้อมูลข่าวสาร?
No comments:
Post a Comment