ความเข้าใจต่อภาพประวัติศาสตร์ปาตานีตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงเป็นมุมมองเชิงประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ปาตานีมีต่ออาณาจักรศูนย์กลาง เมื่อศูนย์กลางอ่อนแอก็ทำการกบฏต่อรัฐศูนย์กลางทันที (ชวลีย์ ณ ถลาง 2541 : 27) ซึ่งแสดงการปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของรัฐสยามมาโดยตลอด ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งนี้ดูเหมือนจะดำเนินควบคู่ความสัมพันธ์ของสยามกับหัวเมืองมลายูที่รัฐสยามเองก็มีทัศนะที่มีแนวโน้มมองการมีปฏิกิริยาต่อการครอบครองรัฐมลายูของสยามว่าเป็น “การกบฏ” (ปิยนาถ บุนนาค 2546 : 31) ซึ่งยิ่งทำให้ขยายความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกขณะจากการดำเนินนโยบายของรัฐสยามที่มีต่อรัฐมลายู จนกลายเป็นรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ฝังลึกและถูกอ้างอิงเสมอในการอธิบายภาพความขัดแย้งที่ดำรงอยู่และสืบเนื่องในปัจจุบัน
คำถามคือ เราสามารถทำความเข้าใจภาพประวัติศาสตร์ปาตานีที่มากไปกว่าความไม่ลงรอยทางการเมืองและการแข็งขืนต่อรัฐสยามตลอดประวัติศาสตร์ของปาตานีในทางอื่นได้หรือไม่ที่ไม่ใช่การก่อรูปมาจากกรอบประวัติศาสตร์ชาติแบบกระแสหลัก แต่มาจากประวัติศาสตร์ที่มาจากมุมมองของพื้นที่นั้นๆ (Michael J. Montesano and Patrick Jory 2008 : 3) โดยประวัติศาสตร์ที่มาจากพื้นที่หรือที่มีการศึกษาอยู่บ้างนั่นก็คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ให้ภาพของเมืองปาตานีในอดีตในฐานะเมืองท่าศูนย์กลางการค้าหัวเมืองมลายู ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรม (อิบรอฮิม ชูกรี 2525 : 12-35) ซึ่งทำให้เราได้ภาพประวัติศาสตร์ปาตานีในอีกด้านหนึ่งที่อธิบายมาจากมุมมองทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มีผลต่อการก่อรูปความเป็นตัวตนของปาตานี
อย่างไรก็ตามการอธิบายประวัติศาสตร์ปาตานีในแง่มุมนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นเพียงจำนวนน้อยนิด และจำกัดอยู่ในช่วงเวลาอดีตมากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ที่สามารถฉายภาพให้เห็นการก้าวสู่สังคมสมัยใหม่ของปาตานี ภาพชีวิตของผู้คนที่โลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะภาพของผู้หญิง ซึ่งเป็นหน่วยสำคัญทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่อยู่เคียงข้างความเป็นไปของประวัติศาสตร์ปาตานี แต่การบันทึกชีวิตของผู้หญิงปรากฏเพียงในยุคโบราณที่พูดถึงการปกครองสมัยราชินีที่มีกษัตริยา 4 พระองค์ปกครองปาตานี (ครองชัย หัตถา 2551 : 124) หรือหากเป็นผู้หญิงสามัญก็มีการบันทึกไว้ว่ามีบทบาทเชิงการค้าขายในดินแดนแห่งนี้ (Anthony Reid 1988 : 634-635, ปรานี วงษ์เทศ 2549 : 343, สุภัตรา ภูมิประภาส 2551 : 8-13) แต่ภาพตัวตนของผู้หญิงในประวัติศาสตร์การก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกับการวิพากษ์ของเครก เรย์โนลด์ส ที่มีต่อประวัติศาสตร์ไทยซึ่งได้ละเลยมุมมองความสัมพันธ์ในเพศสภาวะและเพศวิถีในสังคมไทย ในฐานะแกนหลักสำคัญต่อการอธิบายประวัติศาสตร์ชาตินิยมในสังคมไทย นอกจากนั้น เครกยังมองว่าควรมีความเอาใจใส่ต่อกระบวนทัศน์ “ความทันสมัย” ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อทฤษฎีสตรีนิยมในยุโรปและอเมริกาเพื่อทำความทำความเข้าใจเพศสภาวะและเพศวิถีในบริบทสังคมไทย (เครก เรย์โนลด์ส 2551 : 165-171) ในมุมมองของเครกทำให้เห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ผู้หญิงไม่ควรเป็นเพียงส่วนย่อยในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย แต่ควรเป็นศูนย์กลางการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย/ไทด้วย (Scot Barme 2002 : 4) ดังนั้น ภาพตัวตนของผู้หญิงในประวัติศาสตร์การก้าวไปสู่ความทันสมัยในปาตานีจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ในปาตานี โดยเฉพาะในสภาพที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลักยึดอยู่แต่กับการบรรยายและเล่าเรื่องที่เกี่ยวพันกับศูนย์กลาง ที่ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ผู้หญิงในภูมิภาคอื่นถูกลดทอนและถูกเพิกเฉยในการศึกษา (พริศรา แซ่ก้วย 2544 :)
จากสาเหตุข้างต้น ทำให้ผู้ศึกษาสนใจที่จะแกะรอยตามหาประวัติศาสตร์ผู้หญิงชั้นนำในประวัติศาสตร์การก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ของปาตานีในบริบทที่พวกเธอเหล่านี้อยู่ในยุคสมัยที่นโยบายของรัฐบาลส่งเสริมให้ชาวปาตานีส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีการสอนแบบสมัยใหม่ โดยแต่เดิมนั้นการศึกษาของไทยจำกัดอยู่เพียงในกรุงเทพยังไม่ขยายตัวออกไปสู่ส่วนภูมิภาค การจัดการศึกษาสมัยใหม่ในปาตานีมาพร้อมกับเงื่อนไขทางการปกครองและความต้องการของคนในพื้นที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ลูกของเจ้าเมือง ข้าราชการ พ่อค้า ได้เรียนหนังสือตามแบบไทย (สมโชติ อ๋องสกุล 2521 : 239-240) ซึ่งเป็นโอกาสที่มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นใจและความกล้าให้กับผู้หญิงเหล่านี้ในการออกไปเผชิญโลกภายนอกปาตานีเป็นครั้งแรก ทั้งนี้โอกาสที่ผู้หญิงเหล่านี้ได้รับเกี่ยวพันภูมิหลังทางครอบครัว ชนชั้นและเครือข่ายทางสังคมอย่างใกล้ชิด
จากการลงไปพูดคุยเบื้องต้นกับกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ศึกษาจะทำการศึกษา ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงปีพ.ศ.2500 มีผู้หญิงกลุ่มแรกที่ได้ออกไปศึกษาภายนอกปาตานี โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปีนัง สาเหตุที่ทำให้ส่งลูกหลานที่เป็นผู้หญิงเหล่านี้ไปเรียนคือ หากเป็นกรุงเทพก็ต้องพูดภาษาไทยได้และมีญาติที่จะให้ลูกหลานไปอาศัยอยู่ได้ ไม่นิยมให้ลูกหลานไปอยู่หอพักเอง โดยเฉพาะครอบครัวชาวมุสลิม การกลับมาจากการเรียนที่กรุงเทพของคนกลุ่มแรกและได้มารับราชการที่ปาตานีเป็นเงื่อนไขที่ทำให้มีครอบครัวอื่นๆ กล้าส่งลูกหลานไปเรียนมากขึ้น สำหรับการไปเรียนที่ปีนัง โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิมต้องมีคนรู้จักที่จะฝากฝังลูกหลานไว้ได้เช่นกัน จุดมุ่งหมายหลักของการส่งลูกหลานไปเรียนคือการได้ภาษากลับมา ซึ่งในสมัยนั้นปีนังถือว่าเป็นเกาะสวรรค์สำหรับคนไทยก็ว่าได้ (ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ 2517 : 107) และชาวไทย-มุสลิมเองก็นิยมส่งบุตรหลานไปเรียน เพราะเป็นเมืองที่เปิดในด้านเชื้อชาติและศาสนา
การก้าวไปสู่ “ความทันสมัย” ในสังคมปาตานี เมื่อมองผ่านเส้นทางการศึกษาจึงไม่ได้มุ่งหน้าสู่ความทันสมัยที่กรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว แต่สัมพันธ์กับพื้นที่ เครือข่ายทางสังคม ภาษาและศาสนาที่ทำให้การสัมผัสประสบการณ์สมัยใหม่มีความเป็นไปได้และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงอาณาเขตของรัฐสยาม แต่อยู่ภายใต้ความพร่าเลือนของเส้นเขตแดนที่คนในพื้นที่สร้างขึ้นใหม่และให้ความหมายกับมันผ่านเครือข่ายของผู้คนและสายสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ครอบครัว
No comments:
Post a Comment