Tuesday, June 14, 2011

“เสียงมลายู : กรณีศึกษานิตยสาร AZAN” โดย สะรอนี ดือเระ

“ในขณะที่ประชากรกลุ่มน้อยนี้ได้รับการมองว่าเป็น “พลเมือง” โดยรัฐบาลในกรุงเทพชาวมาเลย์อีกฟากหนึ่งของเขตแดนด้านมาเลเซียกลับถือว่าประชาชนกลุ่มน้อยนี้เป็น “ราษฎร์ที่ยังไม่ได้รับการไถ่ถอน” (unredeemed brethren) (subrke 1975 : 187) ถึงแม้ว่าประชากรมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในภาคใต้ของประเทศไทยจะมีจำนวนน้อย แต่ปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะความใกล้เคียงกับภูมิภาคของโลกที่อยู่ภายใต้การปกครองของคนเชื้อสายมาเลย์เกือบ 200 ล้านคน คือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ถึงแม้ว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจะถูกรวมไว้ในรัฐประชาชาติไทยที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติมาเป็นเวลาช้านาน แต่จังหวัดเหล่านี้ (คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล) ก็ดูเหมือนจะปลอดจากอำนาจรัฐเพราะความแตกต่างทางศาสนา ภาษาและวัฒนาธรรม ระบบราชการมีลักษณะเป็นไทยพุทธ (Thai-Buddhist oriented bureaucracy) ได้ถูกกีดกันไม่ไห้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ชาวมาเลย์มุสลิมกำลังพยายามขัดขืนสิ่งที่ Clifford Geertz เรียกว่า “การปฏิวัติผสมผสาน” (The integrative Revolution) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเป็นของการสร้างชาติในประเทศที่เกิดใหม่ (Geertz 1963 : 105)” (สุรินทร์ 7)

ในห้วงทศวรรษที่ 2510 ในขณะที่รัฐไทยต้องเผชิญหน้ากับสารพัดปัญหาทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาค อันเนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองรวมทั้ง การดำรงสถานะและการแสดงบทบาทของรัฐไทยต่อประชาคมโลกแล้ว ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเองกำลังกุกรุ่นในหลาย ๆ เรื่องที่รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในท่ามกลาง ความพยายามของรัฐไทยในการผสมผสานประชากรเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อความเป็นเอกภาพและเพื่อความมั่นคงของรัฐในขณะที่ชาวมาเลย์มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อ “ความอยู่รอดทางวัฒนธรรม” (Cultural Survival) อันนำไปสู่ความรุนแรง การทำลายล้าง การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ได้คำนึงถึงหลักการใด ๆ (สุรินทร์ 7-8)

แม้ว่าในบริหารทางสังคม การเมือง โดยรวมจะมีลักษณะที่ผ่อนคลายจากนโยบาย “บีบบังคับเพื่อผสมกลมกลืนทางเชื้อชาติ” ที่กำหนดและดำเนินนโยบายโดยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และนำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐ ทั้งในรูปแบบการจัดตั้งองค์กรต่อต้านทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอด จนการเรียกร้องต่อประชาคมโลก รวมทั้ง สหประชาชาติเพื่อปกป้องสิทธิ และเสรีภาพ ทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ของชาวมาเลย์มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ได้นำซึ่งความรุ่นแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดกระแสความแตกร้าว และขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้นตามแนวชายแดน ทำให้รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำนโยบายใหม่มาใช้เพื่อยับยั้งความรุนแรงและกระแสแบ่งแยกดินแดนดังกล่าว

การกำหนดนโยบายจากส่วนกลางเพื่อส่งต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศตามนโยบายใหม่นี้ มาในรูปของแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อเป็นการส่งเสริมและปรับปรุงพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรอันเป็นนโยบายที่ถูกกำหนดให้นำมาใช้ในทุกภาคของประเทศเพื่อผลทางความมั่นคงของรัฐ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้นกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความคาดหวังของรัฐ เพราะเมื่อ “อุดมการณ์แห่งการพัฒนา” ดำเนินการไปอย่างรีบเร่ง ได้เกิดโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นการลดช่องว่างทางสังคม ความพยายามในการผสมผสานทางสังคม วัฒนาธรรม และการเมือง ระหว่างชาวไทยพุทธ ซึ่งเป็นข้าราชการของรัฐเสียส่วนมากกับชาวพื้นเมืองมาเลย์มุสลิม อันเป็นการสร้างความชอบธรรมและการยอมรับแก่ระบบราชการ โดยรัฐบาลได้นำสถาบันสองสถาบัน คือสถาบันพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา ซึ่งมีระบบราชการเป็นเครื่องมือรองรับเพื่อเป็นหลักประกันการสร้างความเป็นเอกภาพของรัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมาเลย์มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับเกิดเป็นการเร่งให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงเกี่ยวกับสถานะสภาพของตนเอง (Identity) และคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกแปรเปลี่ยนไป ผลลัพธ์ของการเร่งรัดการดำเนินนโยบายพัฒนาเพื่อความมั่นคงให้รัฐกลับสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มุ่งที่จะแปรเปลี่ยนสถาบันการศึกษาแบบประเพณีของชาวมาเลย์มุสลิมหรือ ปอเนาะ ให้เป็นศูนย์กลางแห่งความเปลี่ยนแปลงและสภาวะทันสมัย ซึ่งใน พ.ศ.2504 กระทรวงศึกษาธิการได้รับภารกิจจัดการจดทะเบียนปอเนาะทุกแห่ง เพื่อขอรับความช่วยเหลืออุปการะจากทางราชการ ปอเนาะต้องได้รับสถานะภาพใหม่ การศึกษาระดับประถมและมัธยมในประเทศไทยแบ่งออกเป็นของรัฐและของเอกชน ปอเนาะไม่ใช่ทั้งสองประเภท ปอเนาะเป็นของเอกชนแต่ทำหน้าที่สอนวิชาการฝ่ายศาสนาเท่านั้น รัฐพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และอุปกรณ์หากเจ้าของปอเนาะเพียงแต่แสดงความยินดีที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างหลักสูตร ระหว่างปี 2504-2509 มีปอเนาะจดทะเบียนเป็นจำนวน 287 แห่ง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพร้อมที่จะเข้าร่วมกับแผนพัฒนาปอเนาะของ ในช่วงนั้นไม่มีใครพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนแบบโบราณของปอเนาะ เจ้าของปอเนาะส่วนใหญ่หวังความช่วยเหลือทางด้านการเงินมากกว่าการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหาร และกำหนดหลักสูตรของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถึงตอนปลายปี 2513 มีจำนวนปอเนาะที่จดทะเบียนถึง 464 แห่ง แต่การเข้าร่วมในการรณรงค์จดทะเบียนปอเนาะไม่ได้หมายความว่า ผู้นำทางศาสนาเจ้าของปอเนาะจะยินดีเข้าร่วมในแผนการปรับปรุงอย่างเต็มที่ พวกเขาเพียงแต่ต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับรัฐ และหวังในโอกาสที่จะหาลู่ทางใหม่ในการที่จะป้องกันไม่ให้รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องมากเกินไป หากแต่ว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่หยุดยั้งเพียงแค่การจดทะเบียนปอเนาะในเดือนมกราคม 2511 รัฐบาลออกกฎใหม่ว่า ปอเนาะที่จดทะเบียนแล้วทุกแห่งต้องหยุดการสอนภาษามาเลย์ ซึ่งเป็นภาษาแม่ของคนพื้นเมืองและเป็นสื่อที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ทางศาสนามาเป็นเวลาช้านานกลับถูกสั่งให้หยุดสอน การอาสาสมัครเข้าร่วมในโครงการปรับปรุงปอเนาะ จึงถูกเปลี่ยนเป็นการบังคับในปลายปี 2514

ในปี 2515 ได้ปรากฏมีนิตยสารภาษามลายูพิมพ์อักษรยาวีเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูเหมือนจะเป็นการท้าทายข้อกำหนดและนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาษามลายูในกระบวน การเรียนการสอนในโรงงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและโรงเรียนปอเนาะหดแคบลง และเพิ่มหลักสูตรที่เป็นภาษาไทยมากขึ้น ทั้งนี้นิตยสาร AZAN มีสโลแกนว่าเป็นนิตยสารเพื่อการเผยแพร่ความรู้อิสลาม ออกเป็นรายเดือนในนามกลุ่มโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม มีกองบรรณาธิการจำนวน 4 คน และมีนักเขียนประจำจำนวน 12 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยมีชื่อ นายเด่น โต๊ะมีนา เป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการ

ในความเป็นจริงประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการรับสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูจากประเทศเพื่อบ้านคือประเทศมาเลเซียอยู่เป็นปกติ ซึ่งมีทั้งสื่อภาษามลายูเขียนอักษรยาวีและอักษรรูมี ซึ่งดูเหมือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นภาษามลายูอักษรยาวีจะได้รับความนิยมมากว่าเพราะการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่เน้นการสอนภาษายาวีและจากการพูดคุยกับบุคคลที่เป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร AZAN พบว่าแรงจูงใจส่วนหนึ่งในการผลิตนิตยสารเนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นของท้องถิ่นเองหรือจากพื้นที่เอง ทั้งๆ ที่บุคลากรที่นี่มีศักยภาพ ความรู้ความสามารถเพียงพอในการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อจากประเทศมาเลเซีย และเห็นว่าการที่ท้องถิ่นไม่สามารถผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ได้นั้นแสดงให้เห็นถึงความล้าหลังของบุคลากรในพื้นที่

แม้ว่านิตยสาร AZAN จะมีสโลแกนว่าเพื่อเผยแพร่ความรู้อิสลาม แต่ในความเป็นจริงการนำเสนอเนื้อหาของนิตยสารกลับมีเนื้อหาที่หลากหลาย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาที่เป็นความรู้อิสลามกับเนื้อหาด้านอื่นพบว่าเนื้อหาด้านความรู้อิสลามอาจมีเพียง 1 ใน 4 ของการนำเสนอเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอเนื้อหาด้านสังคม การเมือง วัฒนธรรม ภาษาและบทกวีที่ถูกนำเสนอเป็นจำนวนมากอันเป็นเนื้อหาทางโลกที่ขัดแย้งกับสโลแกนของนิตยสารอย่างเห็นได้ชัด การนำเสนอเนื้อหาของนิตยสาร AZAN ดูเหมือนจะเป็นไปตามขนบของสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูที่มีอยู่ในท้องตลาดโดยทั่วไปคือ โดยเริ่มต้นหน้าแรกๆ ด้วยเนื้อหาการอัตถาธิบายพระมหาคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน ตามด้วยฮะดีษ หรือวจนะของท่านศาสดามูฮำหมัด และบทบรรยายธรรมสำหรับอ่านในวันศุกร์ หรือคุ๊ตบะห์ แต่สิ่งที่แตกต่างจากสื่ออื่นๆ เห็นจะเป็นเนื้อหาของคุ๊ดบะห์วันศุกร์ที่มีเนื้อหาวิภากษ์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา และเจาะจงลงไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของชุมชนโดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี

นอกเหนือจากเนื้อหาทางศาสนาดังที่กล่าวมาแล้ว เนื้อหาส่วนอื่นๆของนิตยสารจะเป็นเรื่องทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง ตลอดจนเนื้อหาทางการแพทย์ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เรื่องสั้นและบทกวี ดังที่ได้กล่าวว่า การผลิตนิตยสาร AZAN เหมือนกับเป็นการท้าทายนโยบายทางราชการที่ต้องการลดความสำคัญของการเรียนการสอนภาษามลายูในสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้เห็นได้จากเนื้อหาที่นำเสนอล้วนเป็นเรื่องราวของความทันสมัย เนื้อหาและภาษาที่ใช้แสดงถึงความรู้เท่าทันโลกยุคใหม่ ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับภาษามลายูที่ใช้ในตำราเพื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม หรือตำราที่สอนในโรงเรียนปอเนาะที่เรียกว่า กีตาบ ซึ่งใช้ภาษามลายูแบบเก่า ข้อเขียนต่างๆ ที่นำเสนอในนิตยสารที่เป็นความรู้ของตะวันตกหรือบทความที่กล่าวถึงสังคมสมัยใหม่ จะมีการทับศัพท์จากภาษาอังกฤษอย่างเหมาะสม นอกจากนั้น กองบรรณาธิการจะมีการเชิญชวนผู้อ่านส่งข้อเขียนเพื่อพิจารณาลงตีพิมพ์และมีการจัดประกวดการเขียนเรื่องสั้นเพื่อชิงรางวัล

ในสภาวการณ์ที่รัฐมองว่า สถานศึกษาแบบดั้งเดิมของชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ล้าหลังและต้องได้รับการพัฒนาสู่ความทันสมัยตามนโยบายของรัฐ โดยการลดความสำคัญของการเรียนการสอนภาษามลายูในสถานศึกษาพร้อมๆ กับสอดแทรกหลักสูตรการศึกษาที่เป็นภาษา ไทยเข้าไปแทนที่ทำให้หลักสูตรภาษามลายูหดแคบลงนั้น นิตยสาร AZAN ได้ปรากฏขึ้นบนบรรณพิภพ ที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูที่ผลิตโดยคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อันเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมเพื่อท้าทายแนวคิดการปรับเปลี่ยนสู่ภาวะทันสมัยของรัฐ โดยนำเสนอเนื้อหาดังเช่น

  • เรื่องสั้น 7 เรื่อง
  • บทกวี 15 ชิ้น
  • ประวัติบุคคลสำคัญของโลก 3 คน คือ รพินทรนาฏ ฐากูร ราเด็น อาจิง คาร์ตีนี และ มูฮำหมัดอาลี เจนนาห์
  • บทความทางการแพทย์ 2 เรื่อง คือ ระบบเลือด และบทบาทของหัวใจ
  • บทความด้านจิตวิทยา 2 เรื่อง
  • บทความเรื่องบทบาทสตรีในอิสลาม
  • บทความด้านการศึกษา 3 เรื่อง
  • บทความ เพื่อความเข้าใจเศรษฐกิจ 1 เรื่อง

อื่นๆ เช่น ข่าวท้องถิ่น ซุบซิบข่าวสังคม จดหมายจากผู้อ่าน

No comments:

Post a Comment