ภาพของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่เป็นภาพของความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับท้องถิ่นชายแดนใต้ในด้านของอำนาจการปกครองด้วยการปฏิเสธอำนาจปกครองของรัฐไทยโดยกลุ่มชนชั้นนำเดิม(ชัยวัฒน์,2551) และความขัดแย้งในด้านของอัตลักษณ์และวัฒนธรรมด้วยการเบียดขับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านกระบวนการทำให้ทันสมัย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีประกาศใช้นโยบาย “วัธนธัม” บังคับเรื่องการแต่งกายซึ่งขัดกับวัฒนธรรมท้องที่และหลักอิสลาม (รุสลัน ,2551)
ภายหลังปีพ.ศ. 2547 รัฐบาลได้พยายามจัดการแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วยการใช้นโยบายความมั่นคงต่างๆ โดยเฉพาะการนำกองกำลังทหารเข้าตรึงกำลังในพื้นที่ ใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ผลกระทบที่ตามมาจากนโยบายและมาตรการความมั่นคงได้ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจถูกมองในฐานะจำเลยของการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐ โดยเฉพาะจากมุมมองขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกปิดล้อมตรวจค้น(สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ,2552) ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเหล่านี้ก็เป็นเป้าหมายสำคัญในการทำลายของฝ่ายก่อความไม่สงบด้วย
ผู้ศึกษาได้เป็นหนึ่งในทีมวิทยากรทำหน้าที่อบรมตำรวจมลายูซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 โดยใช้การจัดกระบวนการสานเสวนาและการสัมภาษณ์เชิงลึก ข้อมูลจากกระบวนการดังกล่าวพบว่าวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของตำรวจมลายูเปลี่ยนไปมากหลังการเกิดเหตุการณ์รุนแรงนับตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา วิถีชีวิตและตัวตนของ “ตำรวจมลายู” ต้องเผชิญกับความความขัดแย้งไม่ลงรอยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาสวมใส่อัตลักษณ์สองแบบที่มีความขัดแย้งกัน ด้านหนึ่งคือ การเป็นตำรวจซึ่งเป็นภาพตัวแทนอำนาจของรัฐไทย อีกด้านหนึ่งคือภาพตัวแทนของการเป็น “มลายู” หรือ “นายู” ที่มีวิถีชีวิต คุณค่าและสำนึกในตัวตนที่แตกต่างไปจากความเป็น “ไทย”
การศึกษาชีวิต มุมมองต่อตัวตนของตำรวจที่เป็นคนท้องถิ่นชายแดนใต้ผู้หมายตนเองกับการเป็น”นายู” ไปพร้อมๆกับการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไทย พิจารณาดูข้อข้อแย้งในมิติของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมสองฝั่งท่ามกลางสถานการณ์ของความขัดแย้งและรุนแรงรวมไปถึงการประนีประนอม ต่อสู้ต่อรองในการรักษาอัตลักษณ์แต่ละฝั่งด้านของตนเอง รวมไปถึงการต่อรองเพื่อจะบรรลุถึงลักษณะทางอุดมคติบางอย่างที่ปรารถนาน่าจะพอเป็นประโยชน์บ้างในการทำความเข้าใจพื้นที่นี้ผ่านชีวิตและมุมมองต่อตัวตนของบุคคลซึ่งเป็นเหมือนสนามและผู้เล่นทางวัฒนธรรม
No comments:
Post a Comment