ร้านน้ำชาถือเป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Area) ที่อยู่คู่ชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน ดังจะพบว่า มีร้านน้ำชาจำนวนมากเปิดขายอยู่ทั่วไปในแทบทุกชุมชนในพื้นที่ และมีประชาชนทั้งไทยพุทธไทยมุสลิมเข้ามาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ การเข้ามานั่งในร้านน้ำชากลายเป็นกิจวัตรหนึ่งของผู้คน จนอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมร้านน้ำชากลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว ความสัมพันธ์อันยาวนานดังกล่าว ส่งผลให้ร้านน้ำชามีบทบาทสำคัญต่อชุมชน อย่างน้อยในสองมิติ ได้แก่ ในด้านหนึ่ง รายน้ำชาเป็นพื้นที่เปิด (open area) ที่ดึงดูดผู้คนทั้งจากภายในชุมชนและจากภายนอกชุมชนให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ร้านน้ำชาจึงกลายเป็นแหล่งรวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารนานาชนิด ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เนื่องจากร้านน้ำชาเป็นพื้นทีที่มีผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเป็นจำนวนมากและสม่ำเสมอ ร้านน้ำชาจึงทำหน้าที่ในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นออกไปสู่สังคมในวงกว้าง
เมื่อมองถึงพัฒนาการของร้านน้ำชาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่า มีการปรับตัวในไปในสองทิศทางหลัก ในขณะที่ทิศทางหนึ่ง ร้านน้ำชาจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองเน้นการปรับตัวเชื่อเชื่อมโยงตัวเองเข้าสู่โลกความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ร้านน้ำชาเหล่านี้จึงแข่งขันกันแสวงหาสิ่งใหม่มาสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน เช่น การจัดร้านให้ดูหรูหรา มีระดับ การสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ ให้ดูแปลกตาชวนลิ้มลอง อย่าง โรตีช็อกโกเลต โรตีวนิลา รวมทั้งการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ยูบีซี เพื่อดึงดูดลูกค้าที่นิยมฟุตบอลหรือหนังต่างประเทศ เป็นต้น
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า 6 ปี ก่อให้เกิด “สงครามการแย่งชิงพื้นที่สื่อ” เพื่อผลิตสร้าง “ความจริง” และความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน ด้วยกลไก การจัดการแบบสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ผ่านการทุ่มเทสรรพกำลังทั้งงบประมาณ กำลังคนและเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่จำนวนมากลงไป ส่งผลให้พื้นที่ข่าวสารที่เป็นทางการถูกครอบงำด้วยวาทกรรมของรัฐเกือบเบ็ดเสร็จ แต่รัฐก็ยังไม่อาจเอาชนะใน “สงครามแย่งชิงมวลชน” ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว “ร้านน้ำชา” จำนวนหนึ่งที่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ได้ปรับตัวเพื่อทำหน้าที่ผลิตสร้างความจริงอีกแบบหนึ่งมาต่อสู้กับวากรรมของรัฐ และดูเหมือนว่า วาทกรรมเหล่านี้จะมีพลังในการสื่อสารกับคนในพื้นที่สูงยิ่ง
ร้านน้ำชาในฐานะสถาบันอย่างไม่เป็นทางการอย่างหนึ่งที่อยู่คู่ชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนาน มีพลังในการดึงดูด เชื่อมร้อยผู้คนในสังคมให้มารวมกัน และสถาปนาความเป็นศูนย์กลางของชุมชนขึ้นเพื่อผลิตและแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารนานาชนิดในชุมชน จึงพบว่าบ่อยครั้งที่ร้านน้ำชาเป็นแหล่งผลิต “ความจริงเสมือน” หรือกระทั่ง “ข่าวลือ” ที่มีพลังในการสื่อสารกับมวลชนในพื้นที่อย่างประสิทธิภาพยิ่ง ดังจะเห็นได้จากกรณี ข่าวลือเรื่อง ทหารพรานข่มขืนหญิงสาวชาวมุสลิม เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของชาวมุสลิมจำนวนมาก แต่กลับพบว่า ต้นตอที่แท้จริงเกิดจาก “ข่าวลือ” ในร้านน้ำชาเล็กๆ แห่งหนึ่ง
ในขณะที่กระบวนการผลิตสร้างความจริงจากภาครัฐ ผ่านสถาบันหลักที่เกิดจากรัฐสมัยใหม่ล้วนถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการปิดกั้น กีดกันอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น กระทั่งผลักดันให้อัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นเหล่านั้นกลายเป็นอื่น ผ่านการผลิตสร้างวาทกรรมของรัฐ ร้านน้ำชาเหล่านี้จึงเป็นเสมือนการดิ้นรนเพื่อหาทางออกของคนชายขอบในการคงรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนไว้ พร้อมทั้งสถาปนาอำนาจในการผลิตสร้างความรู้หรือความจริงดยไม่รู้ตัวยแดนใต้ จึงเป็นการปะทะกัรนอีกประเภทหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากวาทกรรมของรัฐ
การศึกษานี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของร้านน้ำชาว่า มีการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่เพื่อตอบสนองต่อบริบททางสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? และภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ร้านน้ำชา” ทำหน้าที่ผลิตและเผยแพร่ “ความจริง” เพื่อต่อรองหรือท้าทายต่อวาทกรรมของรัฐที่กำลังครอบงำอยู่อย่างไร?
No comments:
Post a Comment