Tuesday, June 14, 2011

“ตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะ: บทบาทที่มีในสังคมจังหวัดนราธิวาส” โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม สำหรับการเข้ามาของศาสนาอิสลามสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีหลักฐานการเผยแพร่เข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พูดภาษามลายู/อินโดเนเซียหลายทฤษฎี ส่วนหนึ่งของทฤษฎีดังกล่าวได้กล่าวว่าการเผยแพร่ศาสนาอิสลามยังดินแดนต่างๆเหล่านี้โดยชนชาวอาหรับจากประเทศในตะวันออกกลาง และการเผยแพร่ศาสนาอิสลามของชนชาวอาหรับ โดยเฉพาะชนชาวอาหรับที่มาจากดินแดนฮัดราเมาต์ (Hadramaut) ประเทศเยเมน ซึ่งรู้จักกันในนามของชาวอาหรับฮัดรามี (Hadrami Arabs)นั้น ชนชาวอาหรับเหล่านี้ไม่เพียงมาเผยแพร่ศาสนาอิสลาม โดยทำการค้าเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งได้มีการแต่งงานกับชนชาวพื้นเมือง จนเกิดบุตรหลานที่มีเชื้อสายอาหรับฮัดรามีอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่วนหนึ่งของชนชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้ได้แต่งงานกับบุตรชนชั้นผู้ปกครองในดินแดนต่างๆ จนต่อมาบุตรหลานได้กลายมาเป็นผู้สืบทอดอำนาจ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ตระกูลอัล-ยามาลุลลัยล์ เป็นผู้ปกครอง(Raja)แห่งรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย, ตระกูลอัล-กอดรี เป็นผู้ปกครอง(Yang Di Pertuan Tampin)แห่งเขตตัมปิน รัฐนัครีซัมบีลัน ประเทศมาเลเซีย, ตระกูลอัล-ซาฮับ เป็นผู้ปกครองแห่งรัฐเซียะ(Siak) เกาะสุมาตรา, ตระกูลอัล-กอดรี เป็นผู้ปกครอง(Sultan)แห่งรัฐปอนเตียนัก (Pontianak) เกาะกาลีมันตัน, ตระกูลอัล-ฤอิดรุส เป็นผู้ปกครองแห่งรัฐกูบู(Kubu) เกาะกาลีมันตัน รวมทั้งตระกูลบาฟากิฮ(BaFaqih) เป็นผู้ปกครองในภาคใต้ของฟิลิปปินส์

ในปัจจุบันบุตรหลานที่สืบเชื้อสายมาจากชาวอาหรับฮัดรามียังคงมีบทบาทอยู่ในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายคนของผู้สืบเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามีได้กลายเป็นผู้นำในเวทีโลก เช่น สัยยิดฮามิด อัล-บาร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศอินโดเนเซีย, สัยยิดอาลี อัล-อัตตัส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศมาเลเซีย, เชคมุซซาฟาร์ ซูกูร์ นักอวากาศคนแรกของประเทศมาเลเซีย สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงการมีบทบาทในสังคมของผู้สืบเชื้อสายมาจากชนชาวอาหรับฮัดรามี

สำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การเข้ามาของศาสนาอิสลามยังดินแดนนี้ ชนชาวอาหรับฮัดรามีก็มีส่วนสำคัญในการที่ทำให้เจ้าเมืองปาตานีเข้ารับศาสนาอิสลาม โดยเชคซาอิด อัล-บาซีซา (Sheikh Said Al-Basisa) ชาวบ้านแห่งหมู่บ้านปาไซ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเมืองปาไซ เกาะสุมาตรา ได้ทำให้เจ้าเมืองปาตานี เข้ารับศาสนาอิสลาม จนกลายเป็นสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ (Sultan Ismail Shah) การเข้ามาของชนชาวอาหรับฮัดรามีในดินแดนปาตานีนั้น มีมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 15 ทำให้บุตรหลานของชนชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้นำทางศาสนาอิสลาม เช่น เชคดาวุด อับดุลลอฮ อัล-ฟาตานี (Sheikh Daud Abdullah Al-Fatani) รวมทั้งบรรดานักการศาสนาที่มาจากชุมชนบ้านเบินดังดายอ (Kg. Bendang Daya) จังหวัดปัตตานี

การที่บุตรหลานชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้ได้มีการผสมกลมกลืน มีการแต่งงานกับชาวพื้นเมือง ทำให้บุตรหลานของชนชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้รับวัฒนธรรมมลายู จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวมลายู ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามีที่ “กลายพันธุ์” ในเวลาต่อมา ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่รู้รากเหง้าของตนเองว่ามาจากชนชาวอาหรับฮัดรามี

สำหรับตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนที่ไม่รู้รากเหง้าของตนเองว่ามาจากเชื้อสายอาหรับฮัดรามี ถึงอย่างไรก็ตามตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะโดยเฉพาะกลุ่มสูงวัย ยังคงมีการท่องจำและรักษาบทกวีที่มีชื่อว่า “Syair Sheikh Aidrusi” หรือ “บทกวีเชคอิดรุซี” เป็นบทกวีที่กล่าวถึงความเป็นมาบรรพบุรุษของพวกเขา ซึ่งมีใจความดังนี้

Syair Sheikh Aidrusi

Serkau muda datang dari Makkah

Sekarang boleh Tuan Sheikh Aidrusi (Al-Idrus)

Sebawa turun ke Negeri Patani

Sefaham boleh segala mufakir

Fakirun ala binurul qadri

Lahul arsyi alai hissalam

บทกวีเชคอิดรุซี

นับแต่เยาว์วัยได้เดินทางมาจากนครมักกะห์

ปัจจุบันได้กลายเป็นท่านเชคอิดรุซี

ได้นำพามายังเมืองปาตานี

ทุกสิ่งได้มาซึ่งความรอบรู้

นำแสงสว่างมาสู่ทั้งมวล

ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านเชค

ความเป็นมาของตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะนั้นเริ่มจากท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี (Wan Hussein As-Sanawi)นักการศาสนาอิสลามแห่งหมู่บ้านสะนอ จังหวัดปัตตานี ได้พาครอบครัวซึ่งประกอบด้วยภรรยาชื่อ อุมมีกัลซุม (Ummi Kalsom)และผู้ติดตามจำนวนหนึ่งอพยพหนีจากภัยสงครามระหว่างสยามกับปาตานีในอดีต โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเขาบูโด อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส การจัดตั้งชุมชนใหม่ที่ชื่อว่าบ้านตะโละมาเนาะนั้น นำชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ต้นมาเนาะมาเป็นชื่อหมู่บ้าน ส่วนคำว่าตะโละ (Teluk) นั้นแปลว่า อ่าว รวมแล้วชื่อหมู่บ้านตะโละมาเนาะมีความหมายว่า หมู่บ้านที่มีต้นมาเนาะ ซึ่งมีหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงมีร่องรอยของต้นมาเนาะอยู่ เมื่อมีสร้างชุมชนใหม่ขึ้นมาแล้ว ก็ได้มีการสร้างมัสยิดขึ้นมาเรียกชื่อในภายหลังว่า มัสยิดวาดีฮุสเซ็น (Masjid Wadil Hussein) ตามชื่อของท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี แต่ส่วนใหญ่จะรู้จักในนามของมัสยิดตะโละมาเนาะ จนถึงปัจจุบันบุตรหลานของท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี ได้กระจัดกระจายอยู่ทั่ว นอกจากตั้งถิ่นฐานในภาคใต้ของประเทศไทยแล้ว ยังได้อพยพไปยังประเทศมาเลเซีย, ประเทซาอุดีอาราเบีย และประเทศจอร์แดน

ส่วนหนึ่งของบุตรหลานตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะได้มีบทบาทในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาสนั้น ถือได้ว่าเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานใหญ่ของตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะ จากการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะ โดยใช้ชื่อการจัดทำทะเบียนตระกูลในครั้งนั้นว่า เครือญาติตระกูลอัล-ฮามีดียะห์ (Salasilah Al-Hamidiah) ตามนามของท่านฮัจญีอับดุลฮามิด อับดุลกาเดร์ อัส-ซานาวี ผู้เป็นบุคคลแรกๆ ที่ได้ดำเนินการจัดทำทะเบียนตระกูล ปรากฏว่ามีบุตรหลานตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะที่สืบเชื้อสายมาจากท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวีกับท่านอุมมีกัลซุม ประมาณ 7,000 คน แต่ในการศึกษาครั้งนี้จะทำการศึกษาเฉพาะในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และบริเวณใกล้เคียง คือบริเวณอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งในพื้นที่การศึกษานั้นตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะมีบทบาททั้งในด้านผู้นำชุมชน ผู้นำสังคม ไม่ว่าจะเป็นนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กำนัน ฯลฯ ส่วนบทบาททั้งในด้านผู้นำทางศาสนาอิสลามนั้น มีทั้งที่เป็นโต๊ะอิหม่าม กรรมการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด รวมทั้งเป็นเจ้าของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามอีกจำนวนหนึ่ง

No comments:

Post a Comment