Tuesday, June 14, 2011

นครศรีธรรมราชในปาตานี โดย เอกรินทร์ ต่วนศิริ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ปาตานี ได้มีการปฎิสัมพันธ์กับคนนอกอยู่ตลอดเวลา ตามหลักฐานทางงานประวัติศาสตร์ชาตินิยมปาตานี หรือมีกระทั่งประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย แต่ทว่าการงานศึกษากลับไม่ค่อยปรากฎงานที่เกี่ยวข้องกับ “คนนอก” ในความหมายที่ไม่ใช่เป็นคนมลายูแต่อพยพย้ายถิ่นตัวเองไปอยู่ปักหลักในดินแดนปาตานี

ดูเหมือนว่าการเป็นมุสลิมปาตานีจะมีความโดดเด่นทางด้านอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่างจากมุสลิม อย่างน้อยๆ ก็เรื่องภาษาและประวัติศาสตร์ปาตานี ด้วยความเป็นมุสลิมต่างถิ่น(ไม่ใช่มลายู)ในปาตานี ก็ย่อมมีความแปลกแยกกับความความเป็นมุสลิมมลายู

อย่างไรก็ตาม สังคมมลายูมุสลิมในความเป็นจริงไม่ได้มีแค่เฉพาะคนมลายูมุสลิมล้วนที่ดำรงอยู่ในสังคม ปรากฎการณ์การเคลื่อนย้ายของผู้คนไปสู่ดินแดนปาตานี ก็มีให้เห็นและปรากฎขึ้น ซึ่งเป็นการอาสานำพาตนเองไปสู่ดินแดนปาตานี

ฐานะของความเป็นอื่น (Other) หรือการปรับตัว ของมุสลิมจากนครศรีธรรมราชในดินแดนปาตานี ย่อมมีความสำคัญและมีการต่อรองมากขึ้น ท่ามกลางการสนับสนุนของงานวิชาการจำนวนมากที่ศึกษาปาตานี ในฐานะของพื้นที่ศึกษา ซึ่งมีงานวิชาการหรือการศึกษาจำนวนน้อยชิ้นที่ศึกษา เรื่องราวของคนอื่น ในปาตานี

แต่ทว่ากลับไม่มีงานศึกษากล่าวถึง “มุสลิมที่ไม่ใช่มลายู” ที่อาศัยมาตุภูมิปาตานี ที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้เดินทางย้ายถิ่นเข้ามาจำนวนมาก ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป อาทิ การเดินทางไปศึกษาทางศาสนาอิสลามในดินแดนปาตานี การค้าขาย การมีสายสัมพันธ์เครือญาติ หรือมีกระทั่งการแต่งงานกับคนปาตานี ฯลฯ

จะด้วยเหตุใดก็ตามที่ทำให้คนมุสลิมลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) ได้เข้าไปอยู่ในอาณาบริเวณปาตานี สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีคนอื่นๆ จำนวนมาก ที่ได้เข้าไปในพื้นที่และมีบทบาททั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาชิ้นนี้ ได้มุ่งประเด็นพิจารณากลุ่มมุสลิมที่มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเพียงกลุ่มเดียว

ส่วนแรก คนลิกอร์ในประวัติศาสตร์ชาตินิยมปาตานี โดยศึกษาจากงานเอกสารของ คำบอกเล่าของชาวบ้านเกี่ยวกับมุสลิมจากนครศรีธรรมราช

ส่วนที่สอง โดยส่วนนี้จะเข้าไปศึกษาการชีวประวัติตระกูลมุสลิมที่ย้ายถิ่นจากนครศรีธรรมราชเข้ามาตั้งหลักถิ่นฐานในจังหวัดปาตานีอย่างถาวร โดยไม่ได้กลับไปสู่นครศรีธรรมราช และพิจารณาและสัมภาษณ์ประสบการณ์ชีวิตของมุสลิมจากนครศรีธรรมราชที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนปาตานี

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาชิ้นนี้ พยายามศึกษา การต่อรองทางด้านวัฒนธรรมของคนมุสลิมนครศรีธรรมราชในปาตานีและเคยเผชิญในอาณาจักรปาตานี และบทบาทการมีส่วมร่วมเกี่ยวกับสังคม-วัฒนธรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ด้วยความตระหนักถึงพลานุภาพของแนวทางด้านวิธีวิทยาแบบประวัติศาสตร์สังคม ทำให้ประเด็นขับเน้นจึงให้น้ำหนักในส่วนที่สอง มากกว่าส่วนแรก ซึ่งจะทำหน้าที่เพื่ออธิบายประวัติศาสตร์สองฉบับทั้งของปาตานีและสยาม ที่กล่าวถึงตัวตน คนลิกอร์ หรือในนามของคนนครศรีธรรมราช

No comments:

Post a Comment