Wednesday, January 4, 2012

โปสเตอร์ใหม่ ไฉไลกว่าเดิม

รายการสัมมนา

รายการสัมมนา

สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย:

การค้นหาประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมปาตานี

27 มกราคม 2555

08.30 – 09.00 ลงทะเบียน

09.00 – 09.30 พิธีเปิด

คำกล่าวเปิด: Kim McQuay (ผู้แทนมูลนิธิเอเซีย ประเทศไทย)

คำกล่าวต้อนรับ: ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.)

09.30 – 10.30 ปาฐกถานำ

-ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ • มัสยิด “แดง”: ทอนความรุนแรงต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ในสังคมมนุษย์

10.30 – 12.00 เส้นทางแห่งความทันสมัยและการตีความ

-พุทธพล มงคลวรวรรณ • ปาตานีผ่านแว่นของจักรวรรดิและดวงตาสมัยใหม่: การสำรวจทางมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในรัฐมลายูของสยาม ค.ศ.1899–1900

-นิยม กาเซ็ง • เส้นทางสู่ความทันสมัย: ประวัติศาสตร์สังคมของถนนทางหลวงสายใหม่สู่ ปาตานี

-มูฮัมหมัด อิลยาส หญ้าปรัง • การตีความความเป็นสมัยใหม่: ต่วนกูรู อิสมาแอล สะปันยัง (2498 - ) อูลามาอ์สายจารีตในสังคมปาตานีสมัยใหม่

-ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร • ดำเนินรายการและวิจารณ์

12.00 – 13.00 รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 14.30 พันธสัญญาแห่งความทันสมัยและการต่อรอง

-ทวีลักษณ์ พลราชม และวารชา การวินพฤฒ • ณ ระหว่างพื้นที่: ประสบการณ์ || อัตลักษณ์ || มุสลิมมะฮฺปัตตานีบนเส้นทางการศึกษาสมัยใหม่

-อสมา มังกรชัย • ตำรวจมลายู: ลูกผสมของความเป็นสมัยใหม่แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรุนแรง

-บัณฑิต ไกรวิจิตร • พิธีกรรมและศิลปะการละเล่นพื้นบ้านมลายูปาตานี: วัฒนธรรมลูกผสมกับสภาวะความ เป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย

-ผศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ • ดำเนินรายการและวิจารณ์

15.00 – 15.30 รับประทานอาหารว่าง

15.30 – 17.00 วรสารแห่งความทันสมัย

-สะรอนี ดือเระ • เสียงเพรียกใหม่: นิตยสารอาซานและกลุ่มปัญญาชนใหม่ในปาตานีกลาง ทศวรรษ 2510

-ปิยะนันท์ นิภานันท์ • ความทันสมัยในภาพเรืองแสง: ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ของโรงภาพยนตร์ในสังคมปาตานี

-บัญชา ราชมณี • โมเดิร์นดิเกมิวสิค: อุตสาหกรรมดนตรีและพัฒนาการของสื่อ บันเทิงในปาตานี

-ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ • ดำเนินรายการและวิจารณ์

28 มกราคม 2555

09.00 – 09.30 ลงทะเบียน

09.30 – 10.30 ปาฐกถานำ

-Dr. Patrick Jory • Problems of Modernity in Patani and Thailand: The Emergence of “the People” in Patani’s Past and Present

10.30 – 12.00 อาการของความเป็นสมัยใหม่

-ภมรี สุรเกียรติ • เปลี่ยน ‘ป่าดิบ’ ให้เป็น ‘บ้าน’: ชุมชนในฝัน ณ ทัณฑนิคมธารโต พ.ศ.2478-2500

-เจริญพงศ์ พรหมศร • กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย: เรื่องเล่าที่หายไปในความ สัมพันธ์ระหว่าง พคท. และองค์กรติดอาวุธมลายู

-ดร.ธนาพล ลิ่มอภิชาต • ดำเนินรายการและวิจารณ์

12.00 – 13.00 รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 15.00 การประกอบสร้างอัตลักษณ์ความ เป็นมลายูปาตานี

-โชคชัย วงษ์ตานี • มลายูบางกอก / นายูบาเกาะฮ: การผจญภัยในแผ่นดินสยาม

-อลิสา หะสาเมาะ • ประวัติศาสตร์สังคมหน้าใหม่ของฟาตอนี: เรื่องเล่าจากวงศาคณาญาติ ‘หะสาเมาะ’

-นิอับดุลรากิบ บินนิฮัสซัน • ตระกูลฮัดรามีแห่งมัสยิดตะโละมาเนาะ: บทบาทและ เครือข่ายทางสังคมในนราธิวาส

-วราวรรณ ตระกูลสรณคมณ์ • มัสยิดตะโละมาเนาะ: การประดิษฐ์สร้างมรดกทางวัฒนธรรมมลายูปาตานี

-รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ • ดำเนินรายการและวิจารณ์

13.00 – 14.30 สำเนียงจากชายขอบ

ซะการีย์ยา อมตยา • โกสินทร์ ขาวงาม • กฤช เหลือลมัย

14.30 – 15.00 รับประทานอาหารว่าง

15.00 – 16.00 วิพากษ์โครงการ

Prof. Dr. Craig J. Reynolds (Australian National University)

16.00 – 16.30 คำกล่าวปิด

Dr. James R. Klein (อดีตผู้แทนมูลนิธิเอเซีย ประเทศไทย)

Wednesday, June 15, 2011

ผู้หญิงมุสลิมจากโลกมลายูปาตานีในดินแดนในฝันของเมืองสมัยใหม่ โดย ทวีลักษณ์ พลราชม

ความเข้าใจต่อภาพประวัติศาสตร์ปาตานีตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงเป็นมุมมองเชิงประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ปาตานีมีต่ออาณาจักรศูนย์กลาง เมื่อศูนย์กลางอ่อนแอก็ทำการกบฏต่อรัฐศูนย์กลางทันที (ชวลีย์ ณ ถลาง 2541 : 27) ซึ่งแสดงการปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของรัฐสยามมาโดยตลอด ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งนี้ดูเหมือนจะดำเนินควบคู่ความสัมพันธ์ของสยามกับหัวเมืองมลายูที่รัฐสยามเองก็มีทัศนะที่มีแนวโน้มมองการมีปฏิกิริยาต่อการครอบครองรัฐมลายูของสยามว่าเป็น “การกบฏ” (ปิยนาถ บุนนาค 2546 : 31) ซึ่งยิ่งทำให้ขยายความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกขณะจากการดำเนินนโยบายของรัฐสยามที่มีต่อรัฐมลายู จนกลายเป็นรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ฝังลึกและถูกอ้างอิงเสมอในการอธิบายภาพความขัดแย้งที่ดำรงอยู่และสืบเนื่องในปัจจุบัน

คำถามคือ เราสามารถทำความเข้าใจภาพประวัติศาสตร์ปาตานีที่มากไปกว่าความไม่ลงรอยทางการเมืองและการแข็งขืนต่อรัฐสยามตลอดประวัติศาสตร์ของปาตานีในทางอื่นได้หรือไม่ที่ไม่ใช่การก่อรูปมาจากกรอบประวัติศาสตร์ชาติแบบกระแสหลัก แต่มาจากประวัติศาสตร์ที่มาจากมุมมองของพื้นที่นั้นๆ (Michael J. Montesano and Patrick Jory 2008 : 3) โดยประวัติศาสตร์ที่มาจากพื้นที่หรือที่มีการศึกษาอยู่บ้างนั่นก็คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ให้ภาพของเมืองปาตานีในอดีตในฐานะเมืองท่าศูนย์กลางการค้าหัวเมืองมลายู ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรม (อิบรอฮิม ชูกรี 2525 : 12-35) ซึ่งทำให้เราได้ภาพประวัติศาสตร์ปาตานีในอีกด้านหนึ่งที่อธิบายมาจากมุมมองทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มีผลต่อการก่อรูปความเป็นตัวตนของปาตานี

อย่างไรก็ตามการอธิบายประวัติศาสตร์ปาตานีในแง่มุมนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นเพียงจำนวนน้อยนิด และจำกัดอยู่ในช่วงเวลาอดีตมากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ที่สามารถฉายภาพให้เห็นการก้าวสู่สังคมสมัยใหม่ของปาตานี ภาพชีวิตของผู้คนที่โลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะภาพของผู้หญิง ซึ่งเป็นหน่วยสำคัญทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่อยู่เคียงข้างความเป็นไปของประวัติศาสตร์ปาตานี แต่การบันทึกชีวิตของผู้หญิงปรากฏเพียงในยุคโบราณที่พูดถึงการปกครองสมัยราชินีที่มีกษัตริยา 4 พระองค์ปกครองปาตานี (ครองชัย หัตถา 2551 : 124) หรือหากเป็นผู้หญิงสามัญก็มีการบันทึกไว้ว่ามีบทบาทเชิงการค้าขายในดินแดนแห่งนี้ (Anthony Reid 1988 : 634-635, ปรานี วงษ์เทศ 2549 : 343, สุภัตรา ภูมิประภาส 2551 : 8-13) แต่ภาพตัวตนของผู้หญิงในประวัติศาสตร์การก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกับการวิพากษ์ของเครก เรย์โนลด์ส ที่มีต่อประวัติศาสตร์ไทยซึ่งได้ละเลยมุมมองความสัมพันธ์ในเพศสภาวะและเพศวิถีในสังคมไทย ในฐานะแกนหลักสำคัญต่อการอธิบายประวัติศาสตร์ชาตินิยมในสังคมไทย นอกจากนั้น เครกยังมองว่าควรมีความเอาใจใส่ต่อกระบวนทัศน์ “ความทันสมัย” ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อทฤษฎีสตรีนิยมในยุโรปและอเมริกาเพื่อทำความทำความเข้าใจเพศสภาวะและเพศวิถีในบริบทสังคมไทย (เครก เรย์โนลด์ส 2551 : 165-171) ในมุมมองของเครกทำให้เห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ผู้หญิงไม่ควรเป็นเพียงส่วนย่อยในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย แต่ควรเป็นศูนย์กลางการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย/ไทด้วย (Scot Barme 2002 : 4) ดังนั้น ภาพตัวตนของผู้หญิงในประวัติศาสตร์การก้าวไปสู่ความทันสมัยในปาตานีจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ในปาตานี โดยเฉพาะในสภาพที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลักยึดอยู่แต่กับการบรรยายและเล่าเรื่องที่เกี่ยวพันกับศูนย์กลาง ที่ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ผู้หญิงในภูมิภาคอื่นถูกลดทอนและถูกเพิกเฉยในการศึกษา (พริศรา แซ่ก้วย 2544 :)

จากสาเหตุข้างต้น ทำให้ผู้ศึกษาสนใจที่จะแกะรอยตามหาประวัติศาสตร์ผู้หญิงชั้นนำในประวัติศาสตร์การก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ของปาตานีในบริบทที่พวกเธอเหล่านี้อยู่ในยุคสมัยที่นโยบายของรัฐบาลส่งเสริมให้ชาวปาตานีส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีการสอนแบบสมัยใหม่ โดยแต่เดิมนั้นการศึกษาของไทยจำกัดอยู่เพียงในกรุงเทพยังไม่ขยายตัวออกไปสู่ส่วนภูมิภาค การจัดการศึกษาสมัยใหม่ในปาตานีมาพร้อมกับเงื่อนไขทางการปกครองและความต้องการของคนในพื้นที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ลูกของเจ้าเมือง ข้าราชการ พ่อค้า ได้เรียนหนังสือตามแบบไทย (สมโชติ อ๋องสกุล 2521 : 239-240) ซึ่งเป็นโอกาสที่มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นใจและความกล้าให้กับผู้หญิงเหล่านี้ในการออกไปเผชิญโลกภายนอกปาตานีเป็นครั้งแรก ทั้งนี้โอกาสที่ผู้หญิงเหล่านี้ได้รับเกี่ยวพันภูมิหลังทางครอบครัว ชนชั้นและเครือข่ายทางสังคมอย่างใกล้ชิด

จากการลงไปพูดคุยเบื้องต้นกับกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ศึกษาจะทำการศึกษา ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงปีพ.ศ.2500 มีผู้หญิงกลุ่มแรกที่ได้ออกไปศึกษาภายนอกปาตานี โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปีนัง สาเหตุที่ทำให้ส่งลูกหลานที่เป็นผู้หญิงเหล่านี้ไปเรียนคือ หากเป็นกรุงเทพก็ต้องพูดภาษาไทยได้และมีญาติที่จะให้ลูกหลานไปอาศัยอยู่ได้ ไม่นิยมให้ลูกหลานไปอยู่หอพักเอง โดยเฉพาะครอบครัวชาวมุสลิม การกลับมาจากการเรียนที่กรุงเทพของคนกลุ่มแรกและได้มารับราชการที่ปาตานีเป็นเงื่อนไขที่ทำให้มีครอบครัวอื่นๆ กล้าส่งลูกหลานไปเรียนมากขึ้น สำหรับการไปเรียนที่ปีนัง โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิมต้องมีคนรู้จักที่จะฝากฝังลูกหลานไว้ได้เช่นกัน จุดมุ่งหมายหลักของการส่งลูกหลานไปเรียนคือการได้ภาษากลับมา ซึ่งในสมัยนั้นปีนังถือว่าเป็นเกาะสวรรค์สำหรับคนไทยก็ว่าได้ (ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ 2517 : 107) และชาวไทย-มุสลิมเองก็นิยมส่งบุตรหลานไปเรียน เพราะเป็นเมืองที่เปิดในด้านเชื้อชาติและศาสนา

การก้าวไปสู่ “ความทันสมัย” ในสังคมปาตานี เมื่อมองผ่านเส้นทางการศึกษาจึงไม่ได้มุ่งหน้าสู่ความทันสมัยที่กรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว แต่สัมพันธ์กับพื้นที่ เครือข่ายทางสังคม ภาษาและศาสนาที่ทำให้การสัมผัสประสบการณ์สมัยใหม่มีความเป็นไปได้และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงอาณาเขตของรัฐสยาม แต่อยู่ภายใต้ความพร่าเลือนของเส้นเขตแดนที่คนในพื้นที่สร้างขึ้นใหม่และให้ความหมายกับมันผ่านเครือข่ายของผู้คนและสายสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ครอบครัว

“อูลามาอ์ในสังคมปาตานีสมัยใหม่: กรณีศึกษาพัฒนาการทางความคิดของอุซตาซ อิสมาแอล สะปันยัง อุลามาอ์สายจารีตนิยมแห่งมัสยิดกลางปัตตานี โดย มูฮัมหมัด อินยาส

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเกิดจากกระบวนการทำให้เกิดความทันสมัย (Modernization) อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านกายภาพภายนอก (a rational change in objective reality) ผ่านการพัฒนาความรู้ในเชิงศาสตร์ (Scientific Knowledge) และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ซึ่งทำให้สังคมมนุษย์สามารถลดหรือขจัดอุปสรรคอันเกิดจากธรรมชาติภายนอกซึ่งท้าทายต่อการดำเนินชีวิต กระบวนการ Modernization มิใช่สิ่งใหม่หากแต่เกิดขึ้นและเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่ความรวดเร็ว และความรุนแรงตลอดจนขนาดที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในศตวรรษที่ 19 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 20

พร้อมๆกับกระบวนการทำให้เกิดความทันสมัย ภาวะความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) แสดงนัยยะถึง “การเปลี่ยนแปลงภาวะทางจิตใจของมนุษย์ (a change of state of man’s mind) โดยการยอมรับเหตุผล (Reason) และความเป็นเหตุเป็นผล (Rationality) ให้มีอำนาจ (Authority) อยู่เหนืออำนาจอื่นๆ ดังคำพูดของคานท์ (ผ่านปากของ ฟูโกต์) ที่ชี้ว่า “เป็นชั่วขณะที่มนุษย์นำเอาอำนาจของเหตุผลที่ตัวเองมีออกมาใช้ (ในการเผชิญกับปัญหา) โดยมิต้องพันธนาการตัวเองกับอำนาจใดๆ (เช่น ศาสนา จารีต ประเพณี ฯลฯ): The moment when humanity is going to put its own reason for use, without subjugating itself to any authority (WIE, 37-38)”

สภาวะความเป็นสมัยใหม่จะบังคับ (force) ให้มนุษย์เกิดการปรับเปลี่ยน (Reorientation) ตัวเองทั้งในฐานะปัจเจก และปรับเปลี่ยนลักษณะการรวมตัวกันของมนุษย์ในฐานะสังคม ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความคิดหรือคุณค่าใหม่ๆ (New ideas and values) อันนำไปสู่การจัดการกับปัจจุบันและการวางแผนเพื่อรับมือกับอาณาคต ในทางตรงกันข้าม ผลจากสภาวะความเป็นสมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบในด้านลบ อาจก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนที่ดำเนินไปในทิศทางทีเป็นแรงผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูระบบสังคมและวัฒนธรรมแบบจารีตโดยการอ้างอำนาจของอดีต (the Authority of the Past) เพื่อรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมและต่อต้านการก่อตัวขึ้นของอัตลักษณ์ใหม่ที่เกิดจากวิถี และภาวะทางจิตใจเชิงเหตุผลแบบใหม่ (new kind of rationality)

กล่าวเฉพาะชุมชนมุลิม ผู้ที่รับแรงกระแทกอันดับต้นๆจากภาวะความทันสมัยและกระบวนการทำให้เกิดความทันสมัย คือ ผู้รู้ทางศาสนา (อูลามาอ์) โดยที่พวกเขาเป็นกลุ่มคน/ชนชั้นซึ่งมีสถานะพิเศษทั้งในสายตาของชุมชนมุสลิม และสถานะพิเศษนั้นได้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกรุอ่านและแบบแผนการดำเนินชีวิต (ซุนนะฮ) ของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) อูลามาอ์เป็นกลุ่มคนที่ อธิบาย ตีความ และประยุกต์ความรู้ทางศาสนา และจารีต (Tradition) เพื่อปะทะ ต่อรอง ต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตที่มาพร้อมๆกับความทันสมัย (Modern) ความพยายามในการรักษาจารีต (Tradition) ในขณะที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความทันสมัย (Modern) จึงเป็นความพยายามที่ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง คำถามสำคัญที่เป็นหัวใจของการศึกษาคือ อูลามาอ์สายจารีตนิยมมีการ การทบทวน (revision) หรือ การปรับเปลี่ยน (Reorientation) การตีความหลักการศาสนา ในเรื่องสำคัญๆที่เป็นผลผลิตของภาวะสมัยใหม่ เช่นการตีความหรือมุมมองด้านความคิดเรื่องรัฐชาติ (Modern nation-state) ประชาธิปไตยและความยุติธรรม (Justice and Democracy) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) บทบาทของผู้หญิงในสาธารณะ (the role of women in public) ความสัมพันธ์ต่างเพศในที่ทำงาน การกระจายอำนาจ การบริหารจัดการสมัยใหม่ ฯลฯ อย่างไร? ทั้งนี้เนื่องจากหลักการความเป็นเหตุผล (Rationality) ได้ถูกยอมรับ ของคนในสังคม (อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) และได้กลายเป็นคุณค่า (Values) และปทัสถาน (Norms) ของสังคม แต่การอธิบายหรือการตีความอิสลามตามแนวทางจารีตนิยมไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุผล หากแต่ใช้การศรัทธา และการอ้างถึงจารีตปฏิบัติของท่านศาสดาและบรรดาสหาย ตลอดจนความเห็นของนักวิชาการศาสนายุคกลางในอดีต คำถามต่อมาก็คือ ทำไมอูลามาอ์สายจารีตนิยม ดังเช่น อุซตาซ อิสมาแอล สะปันยัง (2483-ปัจจุบัน) จึงยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงจากมุสลิมปาตานีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในวัยทำงานที่มีการศึกษาสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน? ทั้งที่กลุ่มคนชั้นกลางเหล่านี้น่าจะถูก appealed ด้วย“เหตุผล” มากกว่าการใช้ “Tradition อุซตาซ อิสมาแอล สะปันยัง สามารถรักษา (Preserve) สถานภาพของการเป็นผู้มีอำนาจ (Authority) ในการตีความ และสภาพการนำในชุมชนมุสลิมอย่างไรในภาวะ reflexivity ของภาวะสมัยใหม่ที่มีความจำเป็นต้องปรับรูปแบบและเนื้อหาของความรู้ (Knowledge) สถาบัน (Institution) และความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relations) ท่ามกลางการไหลเวียนอันท่วมท้นของข้อมูลข่าวสาร?

Tuesday, June 14, 2011

เส้นทางสายสงขลา-ปาตานี: มุมมองทางประวัติศาสตร์สังคม โดย นิยม กาเซ็ง

การเขียนประวัติศาสตร์ของโลกมลายู/ปาตานี นั้นมีมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ปาตานีกระแสหลัก ประวัติศาสตร์ความรุนแรง ประวัติศาสตร์ชาตินิยม ประวัติศาสตร์ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ประวัติศาสตร์ปัญญาชนอุลามะ ประวัติศาสตร์การขยายอำนาจของรัฐไทย ฯลฯ เป็นต้น แต่การค้นคว้าด้านวิชาการที่เป็นประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมของปาตานี ที่เกี่ยวกับสภาวะความทันสมัยนั้นยังมีการบันทึกอยู่น้อย ทั้งๆ ที่สภาวะความทันสมัยที่เข้ามาในดินแดนปาตานีนั้นมีมากมายหลายประการ

การก่อสร้างถนนสายสงขลา-ปาตานี ก็เป็นอีกสภาวะความทันสมัยหนึ่งที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่การศึกษาความเป็นมา และความเป็นไปของการสร้างถนนสายสงขลา-ปาตานี นั้นยังไม่มีการกล่าวถึงให้จดจำกันมากนั้น ว่าความทันสมัยดังกล่าวนั้นทำให้ประวัติศาสตร์-สังคมวัฒนธรรมของผู้คน เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ถนนสายสงขลา-ปาตานีนั้นก็มีมานานแล้ว แต่เมื่อมีการสร้างเป็นทางหลวงแผ่นดินขึ้นเป็นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 42 ตามพระราชบัญญัติทางหลวงแผ่นดิน พ.ศ.2535 ทำให้ถนนสายนี้นำความทันสมัยเข้ามายังดินแดนปาตานีได้อย่างมากมาย แต่ยังไม่มีการบันทึก จดจำ หรือเป็นที่กล่าวถึงกันมากนัก

เส้นทางสายสงขลา-ปาตานี สายเก่า เริ่มต้นสาย จากสามแยกคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มุ่งหน้าไปยังเมืองนราธิวาส โดยผ่าน อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย ในจังหวัดสงขลา และเลี้ยวซ้ายเข้าจังหวัดปัตตานีที่อำเภอโคกโพธิ์ ผ่าน อำเภอหนองจิก อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ อำเภอปานาเระ อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าเขตจังหวัดสราธิวาสที่ อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ กระทั่งสุดทางที่เมืองนราธิวาสนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางแห่งความทันสมัย จากสงขลาเข้าสู่ดินแดนปาตานี จะเห็นได้ว่า เส้นทางดังกล่าวได้ผ่านประวัติศาสตร์ที่ชาวปาตานีคุ้นเคย ได้แก่ ศาสนสถาน สถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์การค้าขาย ศูนย์ฝึกอาชีพ สถานศึกษา สถานที่ราชการที่สำคัญ ฯลฯ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การศึกษาเส้นทางสายสงขลา-ปาตานี ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงให้มีการบันทึกหรือจดจำในด้านประวัติศาสตร์-สังคมวัฒนธรรม แต่อย่างใด

จากความเป็นมาและสภาพปัญหาในด้านประวัติศาสตร์ดังกล่าวมานี้ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมของเส้นทางสายสงขลา-ปาตานี และเห็นความสำคัญของการศึกษา เพื่อศึกษาถึงผลของการมีเส้นทางสายสงขลา-ปาตานี ที่มีต่อประชาชนที่มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับเส้นทางสายสงขลา-ปาตานี ในด้านประวัติศาสตร์-สังคมวัฒนธรรม และยังได้ค้นพบเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านทัศนคติ ความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม ที่เกี่ยวกับสภาวะความเป็นสมัยใหม่ สู่การบันทึกประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมของปาตานี

“วิวัฒนาการร้านน้ำชาในปาตานี: จากพื้นที่สาธารณะสู่พื้นที่ในการต่อต้านจักรวรรดิ” โดย ครุศักดิ์ สุขช่วย

ร้านน้ำชาถือเป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Area) ที่อยู่คู่ชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน ดังจะพบว่า มีร้านน้ำชาจำนวนมากเปิดขายอยู่ทั่วไปในแทบทุกชุมชนในพื้นที่ และมีประชาชนทั้งไทยพุทธไทยมุสลิมเข้ามาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ การเข้ามานั่งในร้านน้ำชากลายเป็นกิจวัตรหนึ่งของผู้คน จนอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมร้านน้ำชากลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว ความสัมพันธ์อันยาวนานดังกล่าว ส่งผลให้ร้านน้ำชามีบทบาทสำคัญต่อชุมชน อย่างน้อยในสองมิติ ได้แก่ ในด้านหนึ่ง รายน้ำชาเป็นพื้นที่เปิด (open area) ที่ดึงดูดผู้คนทั้งจากภายในชุมชนและจากภายนอกชุมชนให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ร้านน้ำชาจึงกลายเป็นแหล่งรวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารนานาชนิด ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เนื่องจากร้านน้ำชาเป็นพื้นทีที่มีผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเป็นจำนวนมากและสม่ำเสมอ ร้านน้ำชาจึงทำหน้าที่ในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นออกไปสู่สังคมในวงกว้าง

เมื่อมองถึงพัฒนาการของร้านน้ำชาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่า มีการปรับตัวในไปในสองทิศทางหลัก ในขณะที่ทิศทางหนึ่ง ร้านน้ำชาจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองเน้นการปรับตัวเชื่อเชื่อมโยงตัวเองเข้าสู่โลกความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ร้านน้ำชาเหล่านี้จึงแข่งขันกันแสวงหาสิ่งใหม่มาสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน เช่น การจัดร้านให้ดูหรูหรา มีระดับ การสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ ให้ดูแปลกตาชวนลิ้มลอง อย่าง โรตีช็อกโกเลต โรตีวนิลา รวมทั้งการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ยูบีซี เพื่อดึงดูดลูกค้าที่นิยมฟุตบอลหรือหนังต่างประเทศ เป็นต้น

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า 6 ปี ก่อให้เกิด “สงครามการแย่งชิงพื้นที่สื่อ” เพื่อผลิตสร้าง “ความจริง” และความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน ด้วยกลไก การจัดการแบบสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ผ่านการทุ่มเทสรรพกำลังทั้งงบประมาณ กำลังคนและเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่จำนวนมากลงไป ส่งผลให้พื้นที่ข่าวสารที่เป็นทางการถูกครอบงำด้วยวาทกรรมของรัฐเกือบเบ็ดเสร็จ แต่รัฐก็ยังไม่อาจเอาชนะใน “สงครามแย่งชิงมวลชน” ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว “ร้านน้ำชา” จำนวนหนึ่งที่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ได้ปรับตัวเพื่อทำหน้าที่ผลิตสร้างความจริงอีกแบบหนึ่งมาต่อสู้กับวากรรมของรัฐ และดูเหมือนว่า วาทกรรมเหล่านี้จะมีพลังในการสื่อสารกับคนในพื้นที่สูงยิ่ง

ร้านน้ำชาในฐานะสถาบันอย่างไม่เป็นทางการอย่างหนึ่งที่อยู่คู่ชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนาน มีพลังในการดึงดูด เชื่อมร้อยผู้คนในสังคมให้มารวมกัน และสถาปนาความเป็นศูนย์กลางของชุมชนขึ้นเพื่อผลิตและแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารนานาชนิดในชุมชน จึงพบว่าบ่อยครั้งที่ร้านน้ำชาเป็นแหล่งผลิต “ความจริงเสมือน” หรือกระทั่ง “ข่าวลือ” ที่มีพลังในการสื่อสารกับมวลชนในพื้นที่อย่างประสิทธิภาพยิ่ง ดังจะเห็นได้จากกรณี ข่าวลือเรื่อง ทหารพรานข่มขืนหญิงสาวชาวมุสลิม เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของชาวมุสลิมจำนวนมาก แต่กลับพบว่า ต้นตอที่แท้จริงเกิดจาก “ข่าวลือ” ในร้านน้ำชาเล็กๆ แห่งหนึ่ง

ในขณะที่กระบวนการผลิตสร้างความจริงจากภาครัฐ ผ่านสถาบันหลักที่เกิดจากรัฐสมัยใหม่ล้วนถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการปิดกั้น กีดกันอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น กระทั่งผลักดันให้อัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นเหล่านั้นกลายเป็นอื่น ผ่านการผลิตสร้างวาทกรรมของรัฐ ร้านน้ำชาเหล่านี้จึงเป็นเสมือนการดิ้นรนเพื่อหาทางออกของคนชายขอบในการคงรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนไว้ พร้อมทั้งสถาปนาอำนาจในการผลิตสร้างความรู้หรือความจริงดยไม่รู้ตัวยแดนใต้ จึงเป็นการปะทะกัรนอีกประเภทหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากวาทกรรมของรัฐ

การศึกษานี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของร้านน้ำชาว่า มีการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่เพื่อตอบสนองต่อบริบททางสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? และภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ร้านน้ำชา” ทำหน้าที่ผลิตและเผยแพร่ “ความจริง” เพื่อต่อรองหรือท้าทายต่อวาทกรรมของรัฐที่กำลังครอบงำอยู่อย่างไร?