Tuesday, June 14, 2011

นักมานุษยวิทยาคนแรกในปาตานี: คณะสำรวจเคมบริดจ์ในรัฐมลายูของสยาม 1899 – 1900 โดย พุทธพล มงคลวรวรรณ

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441/ค.ศ. 1898) ราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพเข้าเฝ้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศว่า มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ทำเรื่องมายังนายกรัฐมนตรีอังกฤษและแจ้งมายังสถานทูตที่กรุงเทพฯ ว่าทางมหาวิทยาลัยมีจะ “แต่งกองพวกนักปราชออกมาตรวจการวิทยาต่างๆ คือ ลักษณะคนต่างๆ ลักษณสัตวต่างๆ ลักษณะต้นไม้ต่างๆ กับลักษณแผ่นดิน ในประเทศมลายูที่อยู่ในป้องกันอังกฤษแลพระราชอาณาเขต” จึงขอพระราชทาน “ให้ช่วยอุดหนุนตามสมควรแก่การ” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะสำรวจเข้ามาพระราชอาณาเขตอย่างจำยอมเพราะ “ไม่มีท่าทางที่จะป้องกันอย่างไรได้” โดยคณะสำรวจเคมบริดจ์ ซึ่งประกอบไปด้วย ม. ดับดัลยู. สกิต (W. Skeat) เป็นหัวหน้าคณะสำรวจที่ทำหน้าที่ “ทำรายงานแห่งชาติแลภาษา” ม. ริชาร์ด อีแวนส์ (Richard Evans) ม. เนลซันแอนแนนเดน (Nelson Annandals) และ ม. กวิน วอแอน (D.T. Greynne Vanhan) ได้มาถึงสยามในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1899 และได้เดินทางสำรวจจากสงขลา พัทลุง ไปจนถึงบริเวณที่เรียกว่ารัฐมลายูของสยาม อันได้แก่บริเวณ 7 หัวเมือง กลันตันและตรังกานู จนเป็นที่เสร็จสิ้นในปี 1900 การ “ตรวจการวิทยา” หรือ “scientific expedition” ของคณะสำรวจเคมบริจด์ในครั้งนั้นมีเป้าประสงค์จะสำรวจหรือเก็บข้อมูลทางด้านชาติพันธุ์วิทยา สัตววิทยา ภูมิศาสตร์และพฤษศาสตร์ ใน “ดินแดนอันไม่เป็นที่รู้จัก” ของรัฐมลายูของสยาม อันเป็นกระแสทางด้านวิชาการในขณะนั้น โดยเมื่อรวบรวมข้อมูลเสร็จสิ้นแล้วจะมีการตีพิมพ์เป็นรายงานผลการสำรวจ แต่อย่างไรก็ตามการสำรวจครั้งนี้ด้วยเหตุผลบางประการทำให้ไม่ได้มีการตีพิมพ์ผลการสำรวจ มีเพียง Fasciculi Malayenses ที่เป็นรายงานการสำรวจของแอลนัลเดล หนึ่งในคณะสำรวจที่ได้รับการตีพิมพ์และบันทึกส่วนตัวของสกีต ที่ตีพิมพ์ใน Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society เมื่อปี 1953 เมื่อสกีตได้ล่วงลับไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการสำรวจครั้งนั้นจะไม่ได้นำมาสรุปรวบรวมเป็นรายงาน “ทางวิทยาศาสตร์” หรือเป็น “ชาติพันธุ์วรรณา” ออกมา แต่ข้อมูลจากบันทึกส่วนตัวของสกีตและเลดลอว์ อีกทั้งข้อมูลที่ถูกรวมมาตีพิมพ์ใน JMBRAS เล่มเดียวกันนั้นก็เผยให้เห็นเรื่องราวของปาตานีที่น่าสนใจในช่วงเปลี่ยนศตวรรษในแง่มุมต่างๆ นอกจากนี้ข้อมูลจากฝั่งไทย ที่สำคัญคือรายงานของหลวงพรหมภักดีและขุนราชบุรีรักษ์ที่ทางการสยามได้ส่งเป็นผู้ติดตามคณะสำรวจและให้เขียนรายงานการทำงานของคณะสำรวจเพื่อกราบทูล กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีว่าการมหาดไทยทราบ ซึ่งเก็บรักษาในหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่กรุงเทพฯ ก็เป็นข้อมูลที่รุ่มรวยไปด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจอันทำให้เราเห็น “เบื้องหลัง” การทำงานของคณะสำรวจ ความรับรู้เกี่ยวกับ “การวิทยา” ของชนชั้นปกครองสยาม อันนำไปสู่ความเข้าใจผิดและความขัดแย้งระหว่างคณะสำรวจและขุนนางไทย ตลอดจนสภาพบ้านเมือง สังคมและวิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนที่คณะสำรวจได้ไปถึง

No comments:

Post a Comment