Tuesday, June 14, 2011

“มลายูบางกอก / นายูบาก๊อก: การผจญภัยในแผ่นดินสยาม” โดย โชคชัย วงษ์ตานี

งานศึกษาชิ้นนี้ ให้ความสนใจต่อที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ “มลายูบางกอก/นายูบาก๊อก” ที่ดำรงอยู่และการคงอัตลักษณ์ การปรับตัว การโหยหาอดีตและการมองไปข้างหน้ากับชะตากรรมที่ถูกกำหนดกับทางเลือกใหม่ในแผ่นดินที่ไม่คุ้นเคยอยู่ดาบหน้า จากประวัติศาสตร์ครั้งนั้นจวบจนปัจจุบัน เมื่อครั้นจะหนีจากความเป็น “เชลยสงคราม” กลับไปยังผืนแผ่นดินเดิมก็เป็นการยากจะหวนหาสภาวการณ์เก่าที่เคยปกครองดูแลกันเองเหมือนสมัยที่อยู่ถิ่นเดิมที่มีความเป็นมลายูปาตานี สภาวการณ์เช่นนั้นก็ไม่มีวันหวนคืนแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ “มลายูบางกอก/นายูบาก๊อก” เขาอยู่กันอย่างไร ในยุคแรกเริ่มและปรับตัวอย่างไรจนปัจจุบันในเมืองฟ้าอมร นครบางกอก

คำถามสำคัญของงานชิ้นนี้มี 2 ประเด็นหลักคือ

ประเด็นแรก คือ ทำการสำรวจรายละเอียดของประวัติศาสตร์บาดแผล(ประวัติศาสตร์สงครามสยาม-ปาตานี พ.ศ. 2329/ค.ศ.1786) ถูกบันทำไว้อย่างไรบ้างจากนักประวัติศาสตร์คนสำคัญๆ มีกี่สำนวนแต่ละสำนวนมีรายละเอียดความเหมือนความต่างกันอย่างไร

ประเด็นที่สอง คือ กลุ่มชาติพันธุ์ “มลายูบางกอก /นายูบาก๊อก” มีการปรับตัว แปรเปลี่ยนทั้งในด้านทัศนคติ วิธีคิด ความเป็นอยู่ สำนึกต่อประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมที่ยืนหยัดรักษาอัตลักษณ์ รวมทั้งการแปรผันท่ามกลางสภาวะความความสมัยใหม่ ซึ่งผ่านการต่อรอง การแบ่งรับและปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นพลเมืองไทยอย่างไรตลอด 225 ปีที่ผ่านมา

งานชิ้นนี้มุ่งทำการสำรวจโดยการพยายามทำความเข้าใจ ตั้งข้อสังเกตและการวิเคราะห์สังเคราะห์ความเป็นมลายูบางกอกในภาวะทันสมัยใหม่ เมื่อโลกเปลี่ยน สถานการณ์ วันเวลาและพื้นที่เปลี่ยน การปรับตัว การดิ้นร้นต่อสู้ และการดำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์นี้เขาเผชิญและปรับตัวกันอย่างไรตลอด 225 ปี ที่ผ่านมา

การสำรวจบันทึกประวัติศาสตร์สงครามสยาม-ปาตานี เมื่อ พ.ศ. 2329/ค.ศ.1786 ในฐานะที่เป็นเหตุการณ์จุดเปลี่ยนสำคัญของราชอาณาจักรปาตานี ผู้ศึกษาได้ทำการศึกษารายละเอียดประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยค้นพบเนื้อหาและรายละเอียดจากงานของนักวิชาการชาวมลายูเชื้อสายปาตานี นักวิชาการชาวไทยพุทธและชาวต่างประเทศหลายท่าน อาทิ Prof. Nik Anuar Nik Mahmud ในตำราที่ชื่อ Sejarah Perjuangan Melayu Pattani 1785-1984 “ประวัติศาตร์การต่อสู้ของ(ชาว)มลายูปาตานี พ.ศ.2328-2497 สำนักพิมพ์ UKM ปี 1999, Ahmad Fathy al Fatani ในงานที่ชื่อ Pengantar Sejarah Patani.“ประวัติศาสตร์ปาตานีเบื้องต้น” สำนักพิมพ์ Pustaka Darussalam.ปี 1994,รวมถึงในงานของ Zamberi A.Malak, Nurdi, Herry,Dr. Francis R. Bradley, อ.บางนรา, อารีฟีน บินจิ,เสนีย์ มะดากะกุล,ศ.อิมรอน มะลูลีม, ศ.ครองชัย หัตถาและนักวิชาการชาวไทยพุทธคนอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่ให้รายละเอียดในการกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

อีกทั้งยังทำการสำรวจเนื้อหาในตำราประวัติศาสตร์เล่มสำคัญอาทิ Hikayat Patani:Story of Patani ของ A.Teeuw และ D.K.Wyatt และ Sajaraj Kerajaan Melaya Patani ของ lbrahim Syukri และเล็กเชอร “ประวัติศาสตร์สยาม” ของพลตรีหม่อมเจ้าทองทีฆายุ ที่ใช้สอนประวัติศาสตร์แก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 รวมถึงตำราประวัติศาสตร์เล่มสำคัญๆอื่น

จากการสำรวจงานทางวิชาการที่กล่าวถึงเหตุการณ์ปาตานีแตกเมื่อปี 2329 ของนักวิชาการไทยทั้งชาวพุทธและชาวมลายูมุสลิมมีความแตกต่างกันในเนื้อหาและรายละเอียดแต่ละสำนวน งานเขียนของพลตรี หม่อมเจ้าทองทีฆายุ ที่ชื่อ “เล็กเชอร “ประวัติศาสตร์สยาม” ซึ่งเรียบเรียงโดยนายเลมียด หงสประภาส ระบุเนื้อหาที่เกี่ยวข้องไว้ในหน้า 21 ในบทที่ว่าด้วย “ตีเมืองแขกแถวเมืองมลายู” โดยระบุว่าสงครามคราวนั้นเกิดเพราะทางการสยามมองว่า ปาตานีเป็นประเทศราชที่ตั้งแข็งเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อยากให้กลับมาเป็นของไทยตามเดิม และได้ให้ข้าหลวงถือหนังสือไปถึงพระยาปัตตานีและพระยาไทรบุรีให้ตั้งทูตมาถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองเหมือนแต่ก่อน หากแต่พระยาตานีขัดแข็งเสียหาอ่อนน้อมไม่ จึงสั่งให้พระยากลาโหมกับพระยาจ่าแสนยากรยกทัพไปตีเมืองปัตตานี ผลจากสงครามครั้งดังกล่าวนักวิชาการประวัติศาสตร์ฝ่ายสยามบันทึกไว้อีกว่า “ได้ปืนใหญ่อันเป็นศรีเมืองเรียกว่า พระยาตานีกับครอบครัวและทรัพย์สมบัติมาในครั้งนั้นเป็นอันมาก” (2479 :น.21)

อีกทั้งเนื้อหาในงานวิชาการหลายชิ้นที่กล่าวถึงลักษณะการเคลื่อนย้ายของประชากรปาตานีหลังสงครามในเหตุการณ์ดังกล่าวของชาวมลายูปาตานี บางชิ้นงานและได้รับการยืนยันจากชาวบ้านบางคนในรุ่นหลังเล่าต่อๆกันมา โดยเรียกการเคลื่อนย้ายดังกล่าวว่าถูก “เจาะขา” “ร้อยขา” “ร้อยหวาย” “กวาดต้อน” สู่บางกอก โดยแต่ละทัศนะและชื้นงานจะเรียกลักษณาการดังกล่าวแตกต่างกัน อาทิ งานของ ศ.อิมรอน มะลูลีม (2538) เรียกลักษณาการของการเคลื่อนย้ายอันเกิดจากสงครามในคราวนั้นว่า “ถูกต้อน” อีกทั้งงานของเขายังให้รายละเอียดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2323 ไม่ใช่ปี 2329 (2538:น.5) และใช้คำว่า มุสลิมปัตตานี “ถูกต้อน” มายังกรุงเทพฯ โดยแจกแจงกลุ่มที่ถูกต้อนว่ามีทั้งที่เป็น “เชลยศึกและผู้ถูกกวาดต้อนโดยทั่วไป” โดยทั้งสองกลุ่มเป้าหมายถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆและให้ไปปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ต่างๆทั้งบริเวณชั้นในและชั้นรอบนอกของกรุงเทพฯในสมัยนั้น

งานของอิมรอนให้เหตุผลถึงสงครามที่ปาตานีพ่ายสยามอย่างย่อยยับจนเมืองปาตานีสิ้นเอกราชพี่น้องครอบครัวแตกกระจายเมื่อครั้งนั้น โดยให้เหตุผลในแง่ดีว่า “ความมุ่งหมายของรบนำเชลยศึกมากรุงเทพฯ คือ เพื่อจะเพิ่มประชากรของประเทศ ซึ่งในตอนนั้นประชากรสยามลดน้อยถอยลงไปโดยเฉพาะในตอนที่ไทย( “สยาม” แต่ในงานของอิมรอนใช้คำว่า “ไทย”)รบกลับพม่า” งานดังกล่าวหากทำการพิเคราะห์อย่างลึกซึ้งดูจะพบว่างานของอิมรอนเป็นการให้เหตุผลตามมุมมองของฝ่ายสยามผู้ชนะสงครามที่เป็นเหตุผลที่ให้ในภายหลังเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วกว่าสองร้อยปีหาใช่เหตุผลแต่แรกก่อนการทำสงคราม อีกทั้งตัวผู้ศึกษาอย่างศ.อิมรอนเอง ก็สวมสถานะของความเป็น “มลายูบางกอกเชื้อสายอยุธยา” ที่อาจมีรากเหง้ามาจากปาตานีเช่นเดียวกัน อันแสดงถึงการให้เหตุผลต่อเหตุการณ์จุดเปลี่ยนดังกล่าวในลักษณะของปรับตัวในยุคใหม่ในการให้ทัศนะต่อเหตุการณ์ในอดีต โดยไม่กล่าวถึงความเคียดแค้นและเจ็บปวดของบรรพบุรุษตน

ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพิเคราะห์และอภิปรายถึงงานเขียนและข้อค้นพบที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อและโจทย์หลักของการวิจัย

นอกจากหลักฐานการบันทึกประวัติสายตระกูลชาวมลายูบางกอกโดยฮัจยีอับบาส แสงวิมาน(พ.ศ.2400-2500?) ของชุมชนบ้านปากลัด (คนในชุมชนจะเรียก “บ้านบปากลัด” ว่า “ในบ้าน”) อำเภอพระประแดง (เดิมชื่อว่านครเขื่อนขัญฑ์) จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบันแล้ว ซึ่งนับว่า “ปากลัด” เป็นชุมชนมลายูปาตานีด่านแรกของปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนหน้าปาตานีแตกเมื่อปี พ.ศ. 2329 นั้นคำว่า “มลายู” และ “ชาวมลายู” ในสยามทั้งที่บางกอกและอยุธยามีมาก่อนแล้ว เนื่องจากบางกอกเป็นปากทางและอยุธยาเป็นปลายทางหนึ่งในสถานีการค้าและเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวมลายูปาตานีและจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ อ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด เจ้าของงานเขียนที่ชื่อ (“กลุ่มชาติพันธุ์ : ชาวไทยมุสลิม” ปี 2531 “วัฒนธรรมอิสลาม” ปี 2535. และ “อิสลามกับชาวไทยมุสลิม” ปี 2539.) ให้ขอสังเกตว่า “ในยุคสมัยเดียวกันนั้นพบหลักฐานว่ามีชาวมลายูจากปาตานีและหัวเมืองอื่นๆของแหลมมลายูในบางกอกและอยุธยาแล้ว บางส่วนมาถึงเมืองหลวงของสยามก่อนหน้าปาตานีแตก” มีชาวมุสลิมในหลายชาติพันธุ์แล้วในบางกอกและ ชาวมลายูจึงอาจไม่ใช่มุสลิมกลุ่มแรกๆในบางกอกและอยุธยา เพราะช่วงระยะเวลาในประวัติศาสตร์ก่อนหน้ามีทั้งชาวมุสลิมเปอร์เซียจากเมืองกุม(สายเฉกอะหมัด) มุสลิมอินเดียและชาวมุสลิมเชื้อสายอาหรับเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีทำการค้าและพำนักอยู่ทั้งที่อยุธยาและที่บางกอกฝั่งกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะฝั่งธนบุรีใจกลางบางกอกพบว่ามีชุมนมุสลิมตั้งอยู่โดยรอบพระบรมมหาราชวังทั้งฝ่ายวังหน้าและวังหลัง หลายชุมชน อาทิ ชุมชนบ้านสมเด็จ บ้านแขก เจริญพาส บางกอกน้อย ชุมชนจักรพงษ์ ชุมชนตึกดิน บ้านครัว มหานาคและแถบถนนตานีบางลำพู โดยมีทั้งมุสลิมเชื่อสายเปอร์เซีย (ชีอะฮ) มลายู(ซุนนี่)และเชื้อสายอาหรับและอินเดีย

การตั้งชุมชนมลายูมุสลิมปาตานี โดยกลุ่มที่ผลัดถิ่นมาหลังจากปาตานีแตก ที่เริ่มจากการตั้งถิ่นเดิมบริเวณปากคลองลัดโพธ์ โดยมีหลักฐานพบว่ามีสุสานแขกมลายูและแขกเทศมุสลิมอายุกว่าสองร้อยปีในบริเวณดังกล่าว (ปัจจุบันถูกเวณคืนเพื่อก่อสร้างทางยกระดับข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา)นับได้ว่าเป็นสถานแรกที่ชาวมลายูปาตานีลงเรือเหยียบแผ่นดินสยาม

การที่เป็นชุมชุนเก่าแก่และอยู่ใกล้ศูนย์กลางความทันสมัยอย่างนครบางกอก รวมทั้งเป็นแหล่งรวมของผุ้มีความรู้ความสามารถ ทำให้พบว่าตลอดประวัติศาสตร์ในรอบสองร้อยปีที่ผ่านมาชุมชนแห่งนี้ขยายตัวและยังรักษารากเหง้าไว้ได้อย่างน่าสนใจดังปรากฏหลักฐาน ทั้งที่เป็นบันทึก งานเขียนตำราศาสนา (กีตาบ)เอกสารที่เป็นหลักฐานทางราชการและภาพขาวดำที่ให้รายละเอียดกิจกรรมของชุมชน รวมถึงบันทึกและภาพการมาเยือนของราชวงศ์และบุคคลในรัฐบาลสมัยต่างๆของสยามประเทศและในยุคที่เรียกว่า “ไทย”

No comments:

Post a Comment