Tuesday, June 14, 2011

“พาราไดซ์ รามา: ภาพเรืองแสงในสังคมปัตตานี” โดย ปิยนันท์ นิภานันท์

ความบันเทิงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมาโดยตลอด และด้วยนัยของความบันเทิงย่อมหมายถึงสิ่งที่สร้างความสุข ความจรรโลงใจ ความเพลิดเพลินต่างๆ ให้กับผู้คนที่แสวงหาสิ่งเหล่านั้นเพื่อผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบันนี้ประกอบด้วยปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางสังคม หรือแม้กระทั่งทางการศึกษา และด้วยการประดังเข้ามาอย่างไม่ขาดสายของปัญหาต่างๆ ผู้คนย่อมมองหาสิ่งที่จะช่วยสร้างความบันเทิงต่อจิตใจและร่างกาย ที่เหนื่อยล้ามามากกับชีวิตในทุก ๆวัน และเมื่อความบันเทิงแต่นั้นก่อตัวขึ้นในสังคม ก็ยากที่จะทำให้ความนิยมนั้นเสื่อมคลายลงไปได้ นอกเสียจากว่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและกาลเวลา

ความบันเทิงสิ่งหนึ่งที่ถูกลดเลือนและจางหายไปตามกาลเวลา คือโรงภาพยนตร์แบบ stand alone ที่ในสมัยอดีต สามารถพบเจอได้ทั่วทุกแหล่งความเจริญของ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่โรงภาพยนตร์ในรูปแบบดังกล่าวยังคงมีลมหายใจอยู่นั้น การใช้พื้นที่สาธารณะในโรงภาพยนตร์เพื่อเสพความบันเทิงของคนในสังคมไทย เป็นเสมือนภาพสะท้อนวิถีชีวิตของคนในสังคม และในกรณีนี้ ผู้เขียนได้ศึกษาพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ของจังหวัดปัตตานีโดยคนมลายูปัตตานี และจุดประสงค์ของการเดินตามรอยประวัติศาสตร์โรงภาพยนตร์ในจังหวัดปัตตานีแห่งนี้ เพื่อเป็นภาพสะท้อนให้เข้าใจถึงบริบทของสังคมชาวมลายูปัตตานีได้ดียิ่งขึ้น

ในการศึกษากลุ่มคนมลายูในท้องถิ่นของจังหวัดปัตตานีกับการใช้พื้นที่ของโรงภาพยนตร์ในการทำความเข้าใจต่อพลวัตรทางสังคมปัตตานีนั้น เป็นการทำความเข้าใจต่อกลุ่มสังคมที่มีลักษณะเฉพาะที่มีการปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา หากมองกลุ่มคนดังกล่าวให้เป็นเรื่องที่ตายตัวแล้วนั้นเราก็จะไม่สามารถเห็นถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีพลวัต รวมถึงความสามารถในการปรับตัวของสังคมมลายูเพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน อาทิ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมมลายูปัตตานีถูกคุกคามคือความทันสมัย วัฒนธรรมทั้งหลายในโลกนี้เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงหรือความทันสมัยทั้งสิ้น การศึกษาการปรับเปลี่ยนตัวเองของวัฒนธรรมมลายูปัตตานีกับการเผชิญหน้ากับความทันสมัย เป็นรอยต่อของการสะท้องให้เห็นถึงทัศนคติของสังคมมลายูปัตตานีที่มีต่อค่านิยมสมัยใหม่ ที่หลั่งไหลมาจากการรับวัฒนธรรมจากส่วนกลางส่งผลให้พฤติกรรมและคติพจน์ของคนมลายูในสังคมปัตตานีมีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร โดยการศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมการชมภาพยนตร์ ณ โรงภาพยนตร์ปัตตานีรามาในจังหวัดปัตตานี

No comments:

Post a Comment