Thursday, June 9, 2011

“สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย: การค้นหาประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมของปาตานี” (Fragmented Modernities: The Quest for a Social and CulturalHistory of Patani)



หลักการและเหตุผล

ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาของสังคมไทย ทำให้เกิดคำถามสำคัญท้าทายต่อนักสังคมศาสตร์ว่า อะไรคือรูปแบบต่างๆ ของสภาวะความเป็นสมัยใหม่ และในเมื่อการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว สังคมไทยควรเลือกเส้นทางใดในการเข้าไปสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ โดยทำให้การเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่เอื้อต่อประโยชน์ของมหาชนส่วนใหญ่และยังรักษาคุณค่าและจิตวิญญาณของสังคมแบบจารีตเอาไว้ได้

การจะตัดสินใจเลือกเดินเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ด้วยเส้นทางใดนั้นเคยเป็นประเด็นปัญหาสำคัญสำหรับชนชั้นนำไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และยังเป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกันครั้งใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบัน ที่จะต้องช่วยกันค้นหารูปแบบ เส้นทาง แนวคิด ประสบการณ์และบทเรียนต่างๆ ที่สังคมอื่นๆ ที่เคยเผชิญกับคำถามดังกล่าวและประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวจากการตัดสินใจเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ทั้งหมดนี้เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศในการเข้าไปสู่สภาวะความเป็นสังคมสมัยใหม่อย่างเท่าทันและนำไปสู่ความผาสุกของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม

โครงการวิจัยชิ้นนี้มุ่งสำรวจประสบการณ์ของการเดินเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ในโลกมลายูปัตตานี ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งหวังว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยเอื้อให้เกิดการถกเถียงใหม่ๆ และเป็นข้อมูลที่รอบด้านยิ่งขึ้นในการตัดสินใจเลือกเส้นทางในการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย/มลายูปัตตานีโดยรวมต่อไป

วิกฤติการณ์ต่างๆ ของสังคมไทยในช่วงราวครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญหลักที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ ปัญหาเรื่องการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ (modernity) โดยเฉพาะความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกที่ไม่ได้กินความเพียงแค่ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสรีนิยมทางเศรษฐกิจและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย ตลอดจนพัฒนาการทางการเมืองในการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ ในกรอบของระบบเหตุผลแบบยุคภูมิธรรม/ยุคแสงสว่างทางปัญญา/ยุครู้แจ้งเท่านั้น หากแต่สังคมไทยยังถูกสถานการณ์ทางการเมืองเร่งเร้าจนรู้สึกว่ากำลังเดินอยู่บนทางสองแพร่งและถูกกำหนดให้ต้องเลือกเส้นทางเดินระหว่างการเป็นทุนนิยมแบบเปิดเสรีกับการเปิดรับระบบทุนนิยมแต่ยังคงธำรงรักษาโครงสร้างและจิตสำนึกแบบจารีตของสังคมไทยเอาไว้

ปัญหาที่เป็นแกนกลางและยังไม่ได้ถูกอภิปรายให้กระจ่างก็คือ สิ่งที่เรียกว่าสภาวะความเป็นสมัยใหม่คืออะไร และเราจะทำความเข้าใจสภาวะความเป็นสมัยใหม่ได้อย่างไร? ศาสตราจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภาเคยแสดงความเห็นว่าลักษณะสำคัญของการเป็นสมัยใหม่ของตะวันตกมีอยู่ 4 ด้าน คือ 1) ด้านวัฒนธรรมของการระบบเหตุผล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันนำไปสู่การพัฒนาโลกวัตถุ เครื่องจักรกลและการผลิตแบบอุตสาหกรรม 2) ด้านการเมือง อันสะท้อนออกมาในรูปของการเป็นรัฐชาติ (Nation-State) และการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย 3)ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งปรากฏผ่านการปฏิวัติทางการพาณิชย์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม และ 4)ด้านสังคม คือทำให้เกิดสังคมแบบทุนนิยมที่มีการแบ่งแยกทางชนชั้น การจัดองค์กรทางสังคมในลักษณะการวิภาคแรงงานอย่างเข้มข้น และเกิดลักษณะความเป็นปัจเจกนิยมสูงในขณะที่เน้นความสัมพันธ์แบบทุติยภูมิ เป็นต้น[1] อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ภายนอกที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในกระบวนการกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ แต่สิ่งที่เป็นรากเหง้าสำคัญอย่างแท้จริงของความเป็นสมัยใหม่วางอยู่บนการเปลี่ยนกรอบคิดสำคัญในเรื่องต่างๆ คือ

ภายใต้อิทธิพลของแนวคิดแบบคริสต์ศาสนาที่มองเวลาเป็นเส้นตรง (unilinear) ไม่หวนกลับซ้ำรอยเดิม และมุ่งไปสู่การกลับคืนสู่ดินแดนแห่งพระเจ้า ความทันสมัยหรือสภาวะสมัยใหม่ (modernity) ซึ่งมีรากที่มาทางความคิดอิงอยู่กับคติดังกล่าวจึงมุ่งหมายถึงยุคสมัยหรือสภาพการณ์ที่แยกขาดจากอดีตและมีจุดหมายอยู่ที่อนาคตเบื้องหน้า โดยมีกรอบคิดเรื่องเวลาเป็นแบบเส้นตรงก้าวหน้าโดยไม่มีจุดสิ้นสุด (unfinished unilinear) สำนึกความแตกต่างในเรื่องเวลาเช่นนี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในยุโรปตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ทั้งนี้หากอดีตคือยุคสมัยโบราณหรือสภาวะสังคมที่จารีตประเพณีและศาสนามีสถานะเป็นแบบแผนหลักทางความคิด โลกทัศน์ และวิถีปฏิบัติของคนในสังคมแล้ว ยุคสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนที่นั้นก็แสดงออกในรูปของแนวคิดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกของมนุษย์และการเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของศาสนา การเมือง หรือประพณีความเชื่อใดๆ ภายใต้สภาวะสมัยใหม่ มนุษย์จึงกลายมาเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับตัวเอง (autonomy) ในฐานะองค์ประธานที่เป็นผู้รู้และผู้กระทำการ[2] โดยเฉพาะการเป็นองค์ประธานในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง[3] การแยกตัวเองออกจากวิถีการปฏิบัติตามแบบประเพณี ความเชื่อทางศาสนา และสถาบันทางสังคมแบบจารีต ทำให้สภาวะสมัยใหม่ให้กำเนิดหลักการและสถาบันทางสังคมที่มีพื้นฐานและกรอบอ้างอิงอยู่ภายในตัวเอง แต่มีจุดหมายอยู่ที่อนาคต[4]

การเน้นย้ำความสำคัญของมนุษย์ในฐานะองค์ประธาน (Subject) ที่จะเข้าถึงสิ่งต่างๆ ทำให้เหตุผล กลายเป็นเครื่องมือหลักในการแสวงหาความรู้ของสำนึกแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะความรู้ที่มาจากโลกภายนอกอันจะนำไปสู่ความจริงที่เป็นสากลและวัตถุวิสัย (universality and objectivity) ซึ่งเป็นอุดมคติของความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่มุ่งเน้นการจัดจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกเป็นกลุ่ม ประเภท ชนิด เพื่อให้เห็นถึงสารัตถะภายใน วิธีการหาความรู้ดังกล่าวช่วยให้การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นไปอย่างชัดเจนเป็นระบบ อีกทั้งสามารถคาดคะเน ควบคุมและใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ได้ กระทั่งเชื่อว่าความรู้ดังกล่าวจะมาซึ่งความก้าวหน้าของมนุษยชาติทั้งมวล แต่ในทางตรงข้าม เหตุผลก็เป็นตัวกำกับการกระทำของมนุษย์ด้วยเช่นกัน การกระทำของมนุษย์ตามแนวคิดสภาวะสมัยใหม่จึงจำเป็นต้องได้รับการจำแนกออกเป็นปริมณฑลต่างๆ อย่างเป็นเหตุผล อาทิ การกระทำในทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา เป็นต้น และก่อให้เกิดการความจำเป็นในการสร้างกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐาน (norms) ขึ้นเพื่อขีดเส้นแบ่งปริมณฑลของการกระทำทางสังคมรูปแบบต่างๆ ออกจากกัน[5]

หากพิจารณาในแง่ปรากฏการณ์ทางสังคม สภาวะสมัยใหม่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในทวีปยุโรปเป็นแห่งแรกโดยเริ่มต้นในยุคภูมิธรรมหรือยุครู้แจ้ง (The Age of Enlightenment) ในระยะคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากสภาวะสังคมแบบจารีตสู่สังคมนี้ส่งผลสะเทือนลึกซึ้งในทุกมิติ ในมิติด้านการเมือง สภาวะสมัยใหม่ปรากฏในรูปของการสถาปนารัฐชาติ (nation-state) ซึ่งมีระบบราชการ (bureaucratic system) เป็นกลจักรในการขับเคลื่อน พัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตย (democratization) ที่ให้ความสำคัญแก่การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของคนส่วนใหญ่ซึ่งหากกล่าวในอีกทางหนึ่งคือการที่ปัจเจกทุกคนภายในหน่วยการเมืองใช้สิทธิทางการเมืองของตนเองโดยผ่านระบบการเลือกตั้ง กระบวนการทางการเมืองดังกล่าวมีสมมติฐานอยู่บนหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และรวมถึงการขับอิทธิพลของสถาบันและอำนาจแบบจารีต โดยเฉพาะศาสนาให้ปลอดจากพื้นที่ทางการเมือง (secularization) ด้วย

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน การกำเนิดพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ในสังคมเมืองที่เปิดโอกาสให้บุคคล ซึ่งส่วนใหญ่คือชนชั้นกลางและปัญญาชน สามารถรวมกลุ่มแสดงความเห็นของตัวเองได้อย่างเสรีโดยไม่ถูกควบคุมจากสถาบันการปกครองและศาสนา การพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์และหนังสือพิมพ์ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มคนที่มีความสามารถในการอ่านและเข้าถึงหนังสือ ปัจจัยเหล่านี้ได้กลายเป็นเงื่อนที่มีส่วนสำคัญต่อการก่อตัวของมติมหาชน (public opinion)[6] และการพัฒนาแนวทางการเมืองแบบใหม่ ขณะที่ในพร้อมกันนั้นก็กระตุ้นให้เกิดสำนึกชาตินิยม (nationalism) ที่ผนวกรวมเอาเจตจำนงค์ทางการเมืองของบุคคลเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย

ในมิติทางเศรษฐกิจ สภาวะสมัยใหม่ปรากฏในรูปของการเปลี่ยนวิถีการผลิตมาสู่ทุนนิยม (capitalism) และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิตและการกระจายสินค้ากระทั่งก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (industrialization) ซึ่งทำให้พลังทางการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลสามารถกระจายสินค้าไปสู่ส่วนต่างของโลกได้อย่างกว้างขวาง ส่วนในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมนั้น สภาวะสมัยใหม่เกี่ยวพันกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสังคม จากสังคมแบบชนบทแบบดั้งเดิมมาสู่สังคมเมืองที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีภูมิหลังแตกต่าง (cosmopolitan society) ภายในสังคมสมัยใหม่ วัฒนธรรมปัจเจกนิยมซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพจึงมีบทบาทในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ควบคู่ไปกับสภาวการณ์ที่รัฐได้ใช้อำนาจผ่านกลไกต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อควบคุมพลเมือง[7]

แกนกลางของการก่อรูปทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ การทำให้สถาบันทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจวางอยู่บนการใช้เหตุผล (rationalization) เป็นสำคัญและจากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมา สภาวะสมัยใหม่จึงแฝงด้วยศักยภาพที่จะผลักดันไปสู่สภาพการณ์ใหม่อยู่เสมอ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและถ้วนทั่วในลักษณะของการปฏิวัติทางการเมือง ลัทธิเชื้อชาตินิยม (racism) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ภายใต้ตรรกะของการสร้างความเป็นเนื้อเดียวหรือการสถาปนามาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวของสภาวะสมัยใหม่จึงผลิตความตึงเครียดไปพร้อมกัน กระทั่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่กระตุ้นให้เกิดสภาวะตรงข้ามไป อันได้แก่ ภาวะแตกกระจายของกลุ่มความคิดทางการเมืองและวัฒนธรรม (political and cultural fragmentation), การขยายตัวของแนวคิดจินตนิยม (romanticism) ในแวดวงปรัชญา ศิลปะ และการเมืองซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก และญาณสังหรณ์ในฐานองค์ประกอบสำคัญของความเป็นมนุษย์มากกว่าการใช้เหตุผล, การขยายอิทธิพลของศาสนาที่ปฏิรูปตัวเองให้มีลักษณะเป็นเหตุผลและทันสมัยยิ่งขึ้น, การเกิดสำนึกเรื่องชาติในหมู่กลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นประชากรส่วนน้อยของรัฐ เป็นต้น ตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแรงต้านที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ อาจกล่าวได้ว่า สภาวะสมัยใหม่นั้นเองที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่วนหล่อหลอมประสบการณ์ของบุคคลกระทั่งก่อให้สำนึกและอัตลักษณ์แบบใหม่ที่ตอบโต้กับบรรทัดฐานของตัวเอง อย่างไรก็ตาม จากพลวัตและความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในทุกมิติย่อมหมายความว่าสภาวะสมัยใหม่ที่แท้จริงยังคงเป็นสิ่งที่มาไม่ถึง หรือคือโครงการสู่ความเป็นสมัยใหม่นั้นยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์และต้องดำเนินต่อไป

นอกจากนั้น สำหรับนักวิชาการตะวันตกส่วนใหญ่ในปัจจุบันแล้ว สภาวะสมัยใหม่ยังเป็นสิ่งที่ทุกสังคมและอารยธรรมไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งในแง่ของพัฒนาการด้านจิตสำนึกของบุคคลและพัฒนาการในเชิงสถาบันทางสังคม อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยสภาวะดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นในยุโรปเป็นแห่งแรก ดังนั้น โดยธรรมชาติแล้ว สภาวะสมัยใหม่จึงผูกติดความเป็นยุโรป (และความเป็นคริสต์ในความเห็นของนักวิชาการบางราย) นักวิชาการตะวันตกหลายท่านยังมองว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอารยธรรมอื่นๆ แล้ว การที่สภาวะสมัยใหม่ไม่สามารถก่อตัวขึ้นจากภายในโครงสร้างของอารยธรรมเหล่านั้นยิ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความเกี่ยวพันโดยตรงระหว่างคุณลักษณะของความเป็นสมัยใหม่กับรากทางวัฒนธรรมแบบยุโรป และด้วยเหตุดังนั้น แม้สภาวะสมัยใหม่จะเป็นปรากฏการณ์สากลที่ต้องเกิดขึ้นในทุกสังคม หากแต่บทบาทผู้นำชี้นำการเปลี่ยนแปลงจึงพึงเป็นของชาวยุโรปหรือโลกตะวันตก อาจกล่าวได้ว่าวิธีคิดเช่นนี้ฝังแน่นอยู่ในหมู่นักคิดชาวยุโรปตั้งแต่ยุคภูมิธรรมปัญญาเป็นต้นมาจนถึงยุคสงครามเย็นเป็นอย่างน้อย โดยปรากฏให้เห็นชัดเจนผ่านแนวคิดเรื่อง ภาระของคนขาว (the White Man’s Burden) ภารกิจสร้างความเป็นอารยะ (Mission Civilisatrice) หรือในรูปแบบล่าสุดคือทฤษฏีความทันสมัย (modernization theory) ที่มุ่งสร้างสภาวะสมัยใหม่ผ่านการปลูกจิตสำนึกเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการสร้างสถาบันประชาธิปไตยแบบตะวันตกและเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี

ในแง่นี้ จารีตการอธิบายสภาวะสมัยใหม่แบบเดิมจึงเน้นย้ำลักษณะเป็นสากล พร้อมไปกับขับเน้นลักษณะแบบท้องถิ่นและคุณลักษณะที่แตกต่างจากบรรทัดฐานของความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกให้แก่ภูมิภาคและวัฒนธรรมของคนที่ไม่ใช่ชาวยุโรปไปพร้อมกัน โดยมิได้คำนึงถึงว่ากระบวนการก่อตัวของสภาวะสมัยใหม่นั้นเกี่ยวโยงและพึ่งพาต่อส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะที่แสดงออกผ่านลัทธิอาณานิคม (colonialism) และจักรวรรดินิยม (imperialism) รวมถึงการขาดความตระหนักว่าแม้ภายในทวีปยุโรปและโลกตะวันตกเองก็ยังคงเผชิญกับสภวะความหลากหลายและกรณีตัวอย่างนอกคอกที่ไม่อาจจัดเข้ากับบรรทัดฐานของสภาวะสมัยใหม่แบบยุโรป กล่าวได้ว่าการอธิบายสภาวะสมัยใหม่แบบดั้งเดิมเน้นการใช้มุมมองแบบเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentrism) และมีลักษณะภูมิภาคนิยมในตัวเอง โดดเดี่ยวตัวเองออกจากอิทธิพลของส่วนอื่นๆ

ขณะที่จารีตการอธิบายสภาวะสมัยข้างต้นมองกระบวนก้าวสู่สภาวะสมัยใหม่ที่เป็นเส้นตรงเชิงวิวัฒนาการและมีแบบแผนหนึ่งเดียว (singular moderntiy) หากแต่ในระยะที่ผ่านมาก็ปรากฏแนวการอธิบายที่ให้ความสำคัญกับการก่อตัวของสภาวะสมัยใหม่ในดินแดนอื่นๆ นอกทวีปยุโรป ดังเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งตามแนวการอธิบายแบบดั้งเดิมนิยมถือเป็นส่วนหนึ่งของสภาวะสมัยใหม่แบบยุโรป ขณะที่ในกรณีอื่นก็มีรูปแบบบางประการแตกต่างไปจากต้นแบบดั้งเดิมอย่างมาก ดังเช่น รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น แนวการอธิบายซึ่งมักเรียกในชื่อ “multiple modernities” นี้ให้ความสำคัญต่อกระบวนการที่บรรทัดฐานของสภาวะสมัยใหม่ถูกปลูกฝังขึ้นในภูมิภาคอื่น ผ่านการแปลความให้เข้ากับโครงสร้างทางวัฒนธรรมอันซับซ้อนของคนพื้นเมือง ซึ่งแม้จะทำให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนผ่านตัวเองออกจากสังคมแบบจารีตได้ในหลายระดับ กระทั่งก้าวขึ้นไปเทียบเคียงกับชาติตะวันตกได้สำเร็จ แต่ก็สะท้อนนัยว่าสภาวะสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นมิได้บรรลุถึงองค์ประกอบทั้งหมดของความเป็นสภาวะสมัยใหม่แบบตะวันตก ตัวอย่างเชิงประจักษ์ของกรณีเช่นนี้ก็คือ การเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ภายใต้โครงสร้างอำนาจการเมืองที่เน้นการควบคุมสั่งการแบบเบ็ดเสร็จ หรือการเกิดรัฐแบบ “fundamentalist state” ที่นำเอาหลักการทางศาสนามาใช้ในโลกทางการเมือง เป็นต้น สำหรับนักวิชาการบางท่าน การดำเนินสู่หนทางแห่งสภาวะสมัยใหม่ที่แยกออกจากแนวทางดั้งเดิมนี้ก็อาจนับว่าเป็นคุณลักษณะประการหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่เช่นกัน หากแต่เป็นสภาวะสมัยใหม่ในระดับโลกที่กำลังก้าวไปสู่อารยธรรมใหม่ [8]

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า สภาวะสมัยใหม่กำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากตรรกะของตัวเอง โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมและรูปการณ์จิตสำนึกที่นักวิชาการบางรายอาจเรียกว่า สภาวะหลังสมัยใหม่ (post modernity), ทุนนิยมขั้นปลาย (late capitalism), สภาวะสมัยใหม่ที่ไหลลื่น (liquid modernity) เป็นต้น มโนทัศน์เหล่านั้นนี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการปรับเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับมิติเรื่องพื้นที่และเวลา, การไม่ยอมรับต่อเรื่องเล่าหรือตรรกะที่เคยเป็นต้นแบบของการอธิบายและเปลี่ยนแปลงสังคม, การเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ให้ความสำคัญกับประเด็นใหม่ๆ อาทิ เพศสภาพ ชาติพันธุ์ สิ่งแวดล้อม กลุ่มวัฒนธรรมย่อย ฯลฯ ซี่งโดยมากมุ่งไปที่การเปิดพื้นที่ให้เสียงของผู้ที่ถูกกดทับอยู่ได้ก้องออกมา, สภาวะเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นในทุกมิติของชีวิตทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ และระบบนิเวศน์, บทบาทของสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ในการสร้างภาพเสมือนจริงและผลิตค่านิยมและตัวตนทางสังคมแบบใหม่, การปรับตัวของกลุ่มลัทธิความเชื่อและศาสนาที่หยิบยืมมรดกของอดีตมาใช้ในโครงสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่ประเด็นการคิดคำนึงต่อการสร้างสภาวะสมัยใหม่ หรือที่เรียกกันในชื่อ “reflexive modernization” ในกรณีของสังคมที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ของการเป็นอาณานิคมหรือดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิล่าอาณานิคมนั้น การรับเอาตัวแบบของสภาวะสมัยใหม่แบบยุโรปตะวันตกยิ่งต้องเผชิญกับปัญหามากยิ่งขึ้นซึ่งทำให้การทบทวนประสบการณ์ของผู้คนในสังคมที่กำลังก้าวสู่สภาวะสมัยใหม่เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งยวด จนอาจกล่าวได้ว่า แม้การก่อตัวของสภาวะสมัยใหม่จะเริ่มต้นขึ้นในยุโรป แต่คงไม่อาจทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เลยหากปราศจากอารยธรรมและ/หรือภูมิภาคส่วนอื่นของโลก

ในทางเดียวกัน โดยการใช้ยุโรปเป็นเพียงจุดอ้างอิง (point of reference) การทำความเข้าสภาวะสมัยใหม่ในดินแดนส่วนอื่นของโลกจึงมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อกันของพื้นที่และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ใหญ่กว่าระดับภูมิภาค (connected histories) การศึกษาแนวทางนี้ให้ความสนใจต่อการปะทะประสาน แลกเปลี่ยน ลอกเลียน หยิบยืมประสบการณ์ แนวคิด และเทคโนโลยีระหว่างอารยธรรมต่างๆ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์และวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น เป็นการศึกษาที่มุ่งสู่มุมมองที่สลายความแตกต่างเชิงคู่ขัดแย้งระหว่างความเป็นจารีต-สมัยใหม่, ยุโรป-พื้นเมือง, ตะวันตก-ตะวันออก ที่ผูกติดอยู่กับการใช้ยุโรปเป็นบรรทัดฐานและศูนย์กลางการอธิบาย แต่วางท้องถิ่นและภูมิภาคอื่นๆ ให้อยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำในหน้าประวัติศาสตร์ การศึกษาแนวทางนี้มิได้มุ่งเน้นการหาคุณสมบัติที่เป็นรากเหง้าเนื้อแท้ของท้องถิ่นหรือภูมิภาคเพื่อใช้ตอบโต้กับสภาวะสมัยใหม่แบบยุโรป หากแต่เป็นการหันมาให้ความสนใจต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่ส่งผลต่อพลวัตภายพื้นที่ที่ศึกษา โดยคำนึงถึงเงื่อนไขที่ต่างฝ่ายต่างจำเป็นต้องพึ่งพา หยิบยืม หรือใช้ผู้อื่น/ดินแดนอื่นเพื่อสร้างตัวตน แนวทางดังกล่าวอาจช่วยสร้างความเป็นไปได้ในการทำความเข้าใจกระบวนการสร้างตัวตนทางสังคมแบบใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นต่ออัตลักษณ์หนึ่งเดียวและคงที่ และจะกลายเป็นอีกทางเลือกสำคัญต่อการทำความเข้าใจกระบวนการกลายเป็นสภาวะสมัยใหม่ในดินแดนนอกยุโรป

นอกจากแนวคิดและเกณฑ์บางอย่างในการกำหนดความเป็นสมัยใหม่แล้ว คำถามที่น่าสนใจไม่น้อย ก็คือ สังคมอื่นๆ เผชิญหน้ากับสภาวะการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างไร? ทำไมการเข้าสู่ภาวะความเป็นสมัยใหม่ของบางสังคม เช่น สังคมไทยและสังคมมลายูปัตตานี เป็นต้น จึงกลายเป็นปัญหามากกว่าในสังคมอื่นๆ หรือแท้จริงแล้วเป็นปัญหาของคนกลุ่มใด? แท้จริงแล้วการเข้าสู่ภาวะความเป็นสมัยใหม่นั้นเป็นสิ่งที่จะเอื้อต่อคนกลุ่มใดในสังคมกันแน่ระหว่างผู้ครองอำนาจกับผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ? ดังนั้นสิ่งที่น่าจะขาดแคลนอย่างหนักในสังคมไทยปัจจุบัน คือ ความรู้และบทเรียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของสังคมอื่นๆ ในการเผชิญกับสภาวะการเข้าไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ รวมทั้งช่วงเวลาที่สังคมจารีตของยุโรปได้พังทลายลงขณะที่ความก้าวหน้าและการพัฒนาได้บดขยี้กงล้อประวัติศาสตร์ของมันลงไป[9] หรือการเผชิญหน้ากับการแพร่กระจายของสภาวะความเป็นสมัยใหม่ในสังคมอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับสังคมไทย เช่น เอเชียใต้[10] เอเชียตะวันออกเฉียงใต้[11] และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือกรณีปัญหาและประสบการณ์ในการเข้าสู่สภาวะความเป็นสมัยใหม่ของสังคม/โลกของมลายูปัตตานี ซึ่งการขาดแคลนความรู้ในมิติต่างๆ เหล่านี้ส่วนหนึ่งคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงต่างๆ ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในปัจจุบัน

1. วัตถุประสงค์และเป้าหมาย (Goal and Objectives)

· เป้าหมาย: เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ในการแก้ปัญหาความรุนแรงในเขตชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ด้วยการกำหนดสร้างองค์ประธานใหม่ในการเขียนประวัติศาสตร์ปัตตานี/ปาตานี และเพื่อให้หลุดพ้นจากกรอบคิดที่ว่า ประวัติศาสตร์ปัตตานี/ปาตานีเป็นเพียงปริมณฑลแห่งการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำระหว่างรัฐไทยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานีเพียงอย่างเดียว จนทำให้มองไม่เห็นถึงมิติทางด้านสังคมวัฒนธรรมและความหลากหลายของวิถีชีวิตมนุษย์

· วัตถุประสงค์: เพื่อผลักดันให้เกิดงานเขียนประวัติศาสตร์ของปัตตานี/ปาตานีในมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม และขบวนการปัญญาชน


· วัตถุประสงค์มีสองรูปแบบ คือ

1. เชิงพฤติกรรม: การสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย: การค้นหาประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมของปาตานี” (Fragmented Modernities: The Quest for a Social and Cultural History of Patani) ระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม พ.ศ.2555 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. เป้าหมายเชิงนโยบาย/ความคิด: การสัมมนาดังกล่าว คือการนำเสนอและเผยแพร่งานวิจัยที่ได้จากโครงการ เพื่อเปิดมิติใหม่ในการเข้าใจสังคมมลายูมุสลิมในบริเวณชายแดนภาคใต้ของไทย และกระตุ้นให้สังคมไทยเกิดมุมมองใหม่ๆ ในการอธิบายประวัติศาสตร์ปัตตานี/ปาตานีมากกว่าการจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะเรื่องปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน


[1] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, “ทิศทางประเทศไทยในเศรษฐกิจสังคมโลก” (ปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเศรษฐศาสตร์การเมืองประจำปี 2552 เรื่องทิศทางประเทศไทยในพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมโลก จัดโดยชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 14 พฤษภาคม 2552, โรงแรมตะวันนา กรุงเทพฯ), น. 3.

[2] Peter Wagner, Theorizing Modernity: Inescapability and Attainability in Social Theory, (London: Sage, 2001) เกี่ยวกับความหมายของ modern และ modernity ในงานวิชาการภาษาไทย โปรดดู ธเนศ วงศ์ยานนาวา, “ว่าด้วยความเป็นสมัยใหม่และ ฯลฯ,” ศิลปศาสตร์สำนึก, ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 (กุมภาพันธ์ 2545) และ ธเนศ วงศ์ยานนาวา, การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากสภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), น. 4.

[3] ดูการอภิปรายเรื่องการเป็นองค์ประธานในปริมณฑลของการเมือง (political) กับการกำหนดสภาวะความเป็นสมัยใหม่ใน Dipesh Chakrabarty, “Forward: The Names and Repetitions of Postcolonial History” in Rachel V. Harrison & Peter A. Jackson, eds., The Ambiguous Allure of the West: Traces of the Colonial in Thailand (Cornell Southeast Asia Program, Hong King University Press, 2010), vii-xvii และดู Ranajit Guha, Elementary Aspects of Peasant Insurgency in Colonial India (Delhi: Oxford University Press, 1983).

[4] ตัวอย่างของความคิดแบบนี้ คือ Jurgen Harbermas, The Philosophical Discourse of Modernity: Twelve Lectures (Massachusetts: MIT Press, 1990) และดูข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใน Maurizio Passerin d'Entraves and Seyla Benhabib (eds.), Habermas and the Unfinished Project of Modernity: Critical Essays on The Philosophical Discourse of Modernity (Massachusetts: MIT Press, 1997).

[5] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากสภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่, น. 3.

[6] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, “ปัญญาชนตะวันตกกับสภาวะสมัยใหม่,” รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 22, ฉบับที่ 3 (2543), น. 346 อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคริสต์ศาสนาจะถูกละทิ้งไปจากสังคมสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิง ในทางตรงข้าม ศาสนาคริสต์ได้กลายเป็นเครื่องนิยามความเป็นยุโรปที่แยกตัวเอง แตกต่างจากศาสนาของชนชาติอื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะก่อนสมัยใหม่ ดูรายละเอียดใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา, การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากสภาวะหลังสมัยใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549).

[7] Robin W. Winks and Joan Neuberger, Europe and the Making of Modernity: 1815-1914 (Oxford University Press, 2005).

[8] Gurminder K. Bhambra, Rethinking Modernity: Postcolonialism and the Sociological Imagination, (Basingstoke,: Palgrave Macmillan, 2009)

[9] ตัวอย่างคลาสสิกที่สะท้อนถึงโครงการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบจารีตไปสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าหรือพัฒนาก็คืองานเขียนเรื่อง เฟาต์ของเกอร์เธ่ หรืองานเขียนเกี่ยวเมืองปารีสของโบเดอแลร์ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดู Marshall Berman, All that is Solid Melts into Air: The Experience of Modernity (New York: Penguin Books, 1982).

[10] ดูการขยายตัวและการ บริโภค ความเป็นสมัยใหม่ในเอเชียใต้ในงานของ Carol A. Breckenridge (ed.), Consuming Modernity: Public Culture in a South Asian World (Minneapolis/London: University of Minnesota Press, 1995); Arjun Appadurai, Modernity at Large: Cultural Dimensions of Globalization (University of Minnesota Press, 1996).

[11] ดู Reynaldo C. Ileto, “Outlines of a Nonlinear Emplotment of Philippine History,” in Lisa Lowe and David Lloyd (ed), The Politics of Culture in the Shadow of Capital (Durham and London: Duke University Press, 1997); Vicente Rafael, “White Love: Census and Melodrama in the U.S. Colonization of the Philippines,” in his White Love and Other Events in Filipino History (Durham and London: Duke University Press, 2000); Anne Ruth Hansen, How to Behave: Buddhism and Modernity in Colonial Cambodia, 18601930 (Honolulu: University of Hawaii Press, 2007).

No comments:

Post a Comment